วันที่ 9 ส.ค. 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดชอบสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด 19 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วประเทศและทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ในการดูแลผู้ป่วยภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทั้งคน งบประมาณ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์และวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งสภาพความเป็นจริงมีข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากปัจจัยในการผลิตวัคซีนและเงื่อนไขในขณะการเจรจาในขณะนั้น
อนุทิน กล่าวต่อว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด
รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีน มีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
“ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์” อนุทิน กล่าว
'ก้าวไกล' ค้านหัวชนฝา ไม่เอานิรโทษฯให้ผู้ปฏิบัติระดับนโยบาย
ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ว่าควรแล้วหรือ ที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง ให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา และบริหารวัคซีน โดยระบุว่า แนวคิดสำคัญของเอกสารนำเสนอ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ การตรากฎหมาย พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ โดยหลักการแล้วในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญา และแพ่งให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงอยู่ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย
วิโรจน์ ระบุว่า ควรต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ควรที่จะออกกฎหมาย "นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง" แบบนี้ ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็ควรจะคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายเท่านั้น แต่ไม่ควรคุ้มครอง บุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินใจในการจัดหา และบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งหากดำเนินการด้วยความสุจริตจริง กระบวนการยุติธรรม ตามปกติ ก็คุ้มครองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมล่วงหน้า แบบที่คณะรัฐประหารใช้ แบบนี้
"การออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญแบบนี้ หากในอนาคต เราพบข้อเท็จจริงที่เป็นกรณีบกพร่องอย่างร้ายแรง หรือกรณีที่เล็งเห็นถึงหายนะที่เกิดขึ้นได้ แต่เพิกเฉย ลอยชายตามระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เห็นชีวิตประชาชนเป็นผักปลา แล้วเราจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ตายไปได้อย่างไร เห็นด้วยให้คุ้มครองเฉพาะบุคลากรคนด่านหน้า อย่านิรโทษล่วงหน้า ให้กับผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย"
ไทยขยับอันดับ 37 ยอดติดโควิดสะสมกว่า 7.7 แสนราย ตาย 6.3 พันราย
ด้าน ศบค. เปิดเผยสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 วันจันทร์ที่ 9 สค. 2564 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ในวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 19,603 ราย หายป่วยแล้ว 527,908 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 747,245 รายเสียชีวิตสะสม 6,259 ราย สำหรับข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 555,334 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 776,108 ราย และเสียชีวิตสะสม 6,353 ราย
สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก วันที่ 8 ส.ค. 2564 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 37 ของโลกหลังมียอดผู้ป่วยสะสมสูงถึง 776,108 ราย
ส่วนผู้ได้รับวัคซีนระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 8 ส.ค. 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 20,669,780 โดส โดยวันที่ 8 ส.ค. 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 143,071 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 23,693 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 24,381 ราย
สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 15,986,354 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 4,461,861 ราย และจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 221,565 ราย
ศบค.แจงฉีดเข็ม 3 จำนวน 1.8 แสนราย ไฟเซอร์ฉีด 2.3 หมื่นราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวถึงกรณีที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-13 บูสเตอร์โดส หรือเข็ม 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้า รวมถึงการทยอยจัดส่งวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ ไปยังต่างจังหวัด ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่าบางแห่งได้รับน้อยกว่าที่แจ้งความประสงค์ ว่า การฉีดวัคซีนให้บุคลากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ล่าสุดในวันนี้ กรณีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่ม 900 เข็ม ซึ่งหากรวมนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 พบว่ามีผู้ที่รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ไปแล้ว จำนวน 182,082 ราย
กรณีวัคซีนของไฟเซอร์ ตอนนี้มียอดรวมอยู่ที่ 39,483 ราย โดยเฉพาะที่ฉีดเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวน 23,481 ราย ส่วนการจัดสรรวัคซีนของไฟเซอร์นั้น เบื้องต้นกรมควบคุมโรคส่งให้ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการของบุคลากรที่ได้สำรวจไว้ก่อน จากนั้นจะมีการสำรวจศักยภาพการฉีดแต่ละจุด แล้วจะจัดสรรให้เพิ่มเติมอย่างแน่นอน โดยตั้งแต่วันที่ 5-6 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนของไฟเซอร์ ลอตแรกลงยังหน่วยฉีดแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง