ที่ สน.สำราญราษฎร์ แกนนำและผู้ปราศรัยขบวนการราษฎร'63 รวม 7 คน กล่าวหลังรับทราบข้อกล่าวหาคดีชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยต่างปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 19 มกราคมนี้ และต่างเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายปละตั้งข้อหาหาที่ย้อยแย้งและกลั่นแกล้งประชาชน
ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี จากคณะประชาชนปลดแอก กล่าวถึงความย้อนแย้งของการบังคับใช้กฎหมายและตั้งข้อกล่าวหากลุ่มตนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้ว ไม่สามารถนำกฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ.ชุมนุม มาบังคับใช้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายซ้ำซ้อนกันเอง โดยตั้งข้อหากับกลุ่มตนทั้งความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินและตามกฎหมายชุมนุม
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ย้ำถึง การตั้งข้อหามั่วเพราะจงใจจะเอาผิดแกนนำสำคัญบางคน ทั้งที่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด อย่างกรณีของตนที่ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 แต่กลับมีคดีจากการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทั้งที่ตนไม่ได้เข้าร่วม โดยตำรวจชื่อมโยงว่าตนได้ร่วมแถลงข่าววันที่ 8 ตุลาคม จึงต้องมีความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมด้วย ซึ่งตนเห็นว่า ฟังไม่ขึ้น
"ไผ่ ดาวดิน" ยังกล่าวถึงการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ของผู้มีอำนาจว่าต้องการให้ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาหวาดกลัวอย่างในอดีต แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว แม้ว่าเป็นกฎหมายตัวเดิม แต่ให้ผลแตกต่างกันออกไป ทั้งยังทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนวิธีการต่อสู้ของราษฎรต่อการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ คือการรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรานี้นั่นเอง เพราะที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 แต่ผู้มีอำนาจไม่ใส่ใจประชาชนจึงต้องเรียกร้องให้ยกเลิก
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย มองว่าการใช้มาตรา 112 ของผู้มีอำนาจเป็นการนำสถาบันกษัตริย์ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง นำสถาบันฯมาเป็นโล่กำบังให้รัฐบาลและเป็นการทำให้กษัตริย์ กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน จึงอยากให้ผู้มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี และคนในสังคมพิจารณาได้ว่า การใช้กฎหมายเเละดำเนินการลักษณะนี้ของผู้มีอำนาจเหมาะสมหรือไม่
โดยทั้งหมดยืนยันจะต่อสู้เคลื่อเนไหวทางการเมืองต่อไปตามแนวทางสันติวิธีและยึด 3 ข้อเรียกร้องหลักดังเดิม และปีนี้จะเข้มข้นมากขึ้นแต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ ให้สังคมติดตามความเคลื่อนไหว
อ่านเพิ่มเติม