ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ พยายามผลักดันมาตรการขึ้นภาษีและควบคุมเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนและโรคร้ายอื่นๆ แก่ผู้บริโภค แต่การพุ่งเป้าแบนน้ำอัดลมที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะถูกมองว่าเป็นการทำลาย 'ทางเลือก' ของผู้บริโภค

เครือข่ายด้านโภชนาการ NutriNet-Santé ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิจัยจาก 13 มหาวิทยาลัยฝรั่งเศส เผยแพร่รายงาน Sugary drink consumption and risk of cancer สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงกับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง พบว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอย่างน้อย 100 มิลลิลิตรต่อวัน ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 หากเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ รายงานว่าเครือข่ายนักวิจัยเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี นับตั้งแต่ 2009-2017 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวฝรั่งเศสในวัยผู้ใหญ่จำนวน 101,257 ราย แบ่งเป็นเพศหญิง ร้อยละ 79 และเพศชาย ร้อยละ 21 พบว่าเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ น้ำอัดลม เครื่องดื่มผสมน้ำตาลไม่อัดลม และน้ำผลไม้ร้อยเปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งสรุปว่า เครื่องดื่มรสหวาน ซึ่งรวมถึงน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลธรรมชาติ ต่างก็เพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ดื่มเป็นโรคมะเร็งได้มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มน้ำหวานเลย

มาธิลด์ ตูวิเยร์ หัวหน้าคณะนักวิจัยของ NutriNet-Santé เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า สารปรุงแต่งอื่นๆ ในเครื่องดื่มที่มีรสหวานก็อันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน โดยยกตัวอย่างน้ำอัดลม 'น้ำดำ' บางยี่ห้อซึ่งมีส่วนผสมของสารเมธิลอิมิดาโซล (methylimidazole) หนึ่งในสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้รณรงค์ด้านสุขภาพกดดันผู้ผลิตน้ำอัดลมให้ปรับสูตรเครื่องดื่ม ไม่ให้ใช้สารชนิดนี้เป็นส่วนผสมในสินค้า 

อย่างไรก็ตาม ความหวานในน้ำผลไม้ที่ได้จากน้ำตาลตามธรรมชาติ รวมถึงเครื่องดื่มผสมสารแทนความหวานอื่นๆ ก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะน้ำตาลมีผลให้ผู้บริโภคน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้หากบริโภคเป็นประจำทุกวันและไม่ออกกำลังกาย และอาจกลายเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง

อ้วน.jpg

'ความพ่ายแพ้' ของผู้ต่อต้านความหวาน

เมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมา บุคลากรการแพทย์และเครือข่ายผู้ปกครองในสหรัฐฯ รวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพื่อกดดันให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานลง เพราะผลสำรวจทางธุรกิจบ่งชี้ชัดเจนว่าราคาที่สูงขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยแอลเอไทม์สรายงานว่า ส.ว.ที่เป็นกรรมาธิการด้านสุขภาพของรัฐแคลิฟอร์เนีย เสนอให้ที่ประชุมสภาผ่านร่างกฎหมายควบคุมน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานที่เข้าสู่สภาตั้งแต่เดือน ก.พ. โดยเสนอทั้งมาตรการเก็บภาษีเพิ่ม และเสนอข้อบังคับให้เครื่องดื่มที่มีปริมาณตั้งแต่ 75 ออนซ์เป็นต้นไป หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเกิน 12 Ml. ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ต้องปิดฉลากหรือขึ้นคำเตือนแก่ผู้บริโภคถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน รวมถึงโรคเบาหวานและฟันผุ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวจะรวมถึงน้ำอัดลมแก้วใหญ่ที่กดจากตู้จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อด้วย

สมาคมผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มของสหรัฐฯ นำโดยบริษัทเป๊ปซี่ & โค และโคคาโคล่า รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมตัวกันคัดค้านร่าง ก.ม.ดังกล่าว ทำให้ไม่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาเมื่อวันที่ 2 ก.ค. แต่ผู้เสนอร่าง ก.ม.ระบุว่าจะปรับแก้เนื้อหาและยื่นต่อที่ประชุมอีกครั้งในปีหน้า

ผู้สนับสนุนร่าง ก.ม.เหล่านี้ยืนยันว่า การแปะฉลากเตือนเรื่องความเสี่ยงจากการบริโภคน้ำอัดลมและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลคือสิ่งจำเป็น พร้อมอ้างสถิติของศูนควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า ชาวอเมริกันเป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกินที่เข้าข่ายเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีจำนวนกว่า 93.3 ล้านคนทั่วประเทศในปี 2016 ถือเป็นภัยเงียบ ต้องหาทางป้องกันและควบคุม

AFP-เครื่องดื่ม-บิ๊กกัลป์-double gulp-เซเว่นอีเลฟเว่น-น้ำอัดลม.jpg

วัฒนธรรม 'แก้วใหญ่' กระตุ้นการบริโภค

เว็บไซต์ Smithsonian ซึ่งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอให้ติดฉลากแจ้งเตือนเรื่องสุขภาพแก่ผู้บริโภค หรือการจำกัดปริมาณน้ำอัดลมในสหรัฐฯ ไม่อาจประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดายนัก เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน

สมิธโซเนียนอ้างถึงเครื่องดื่ม 'บิ๊กกัลป์' ของร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในฐานะ 'ต้นตำรับ' ของวัฒนธรรมการบริโภคเครื่องดื่มแก้วใหญ่ที่เริ่มจำหน่ายในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1980 พร้อมกล่าวถึงสโลแกนยุคแรกที่ใช้ในการโฆษณาบิ๊กกัลป์ โดยระบุว่าเป็��� 'เสรีภาพในการเลือก' ของผู้บริโภค เน้นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกด้วยตัวเองได้ว่าต้องการแก้วเครื่องดื่มขนาดใด ซึ่งปริมาณการบรรจุขั้นต่ำคือ 32 ออนซ์ ใหญ่กว่าแก้วเครื่องดื่มที่มีจำหน่ายทั่วไปในยุคนั้น ทั้งยังสามารถเพิ่มขนาดไปจนถึง 64 ออนซ์ในยุคหลัง

นอกจากนี้ 7-11 ยังลดต้นทุนเรื่องค่าแรงด้วยการให้ผู้บริโภคเติมน้ำอัดลมและน้ำแข็งด้วยตัวเองก่อนจะจ่ายเงินค่าสินค้า เป็นการย้ำจุดขายเรื่อง 'เสรีภาพในการเลือก' เพราะผู้บริโภคสามารถกะได้เองว่าสัดส่วนของน้ำแข็งและน้ำอัดลมที่ตัวเองพึงพอใจคือปริมาณเท่าใด ส่งผลให้ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ และร้านอาหารในสหรัฐฯ หลายร้านหันมาใช้กลยุทธ์นี้เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเช่นเดียวกัน 

สมิธโซเนียนอ้างข้อมูล 7-11 ในสหรัฐฯ ประเมินว่า ปริมาณน้ำอัดลมที่จำหน่ายในร้านสาขากว่า 18,200 แห่งใน 18 ประเทศทั่วโลกแต่ละปี อยู่ที่ประมาณ 33 ล้านแกลลอน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานการแข่งขันโอลิมปิก รวม 75 สระ แต่ขณะเดียวกัน ผู้รณรงค์ต่อต้านการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลก็อาจจะมองว่า วัฒนธรรมการบริโภคแบบ "ยิ่งมากยิ่งดี" เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนอเมริกันยุคใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: