ไม่พบผลการค้นหา
ไปทำความความรู้จักเชชเนีย ดินแดนต้องสาปที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม

Culture Corner ประจำวันที่ 28 เมษายน 2556

 

การสืบสวนเหตุระเบิดบอสตัน ที่สืบสาวได้ว่าผู้ต้องสงสัยทั้งสองคนเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเชชเนีย ทำให้ดินแดนแห่งนี้ กลับมาอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกอีกครั้ง ไปทำความความรู้จักเชชเนีย ดินแดนต้องสาปที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีชื่อไหนโด่งดังในสื่อทั่วโลกมากไปกว่าสองพี่น้อง ตาร์มีลันและยอร์คา ซาร์นาเอฟ ผู้ต้องสงสัยคดีระเบิดบอสตันมาราธอน มีการขุดคุ้ยตรวจสอบเรื่องราวของพวกเขามากมายทั้งจาก FBI และสื่อมวลชน เพื่อไขปริศนามูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายครั้งนี้ และหนึ่งในข้อมูลที่ถูกจับตามองมากที่สุดก็คือการที่ทั้งสองคนมีเชื้อสายเชเชน กลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาอิสลาม ที่อาศัยอยู่ในแคว้นเชชเนียร์ของรัสเซีย

 

ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าความเป็นชาวเชเชนของสองพี่น้องซาร์นาเอฟมีส่วนน้อยมากในการบ่มเพาะให้ทั้งสองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการก่อการร้าย เนื่องจากพ่อแม่ของทั้งคู่แม้จะเป็นชาวเชเชน แต่ก็อาศัยอยู่ในดาเกสถาน เพื่อนบ้านของเชชเนีย นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเติบโตในสหรัฐฯมากกว่าในสังคมชาวเชเชน แต่แน่นอนว่าข้อมูลนี้ ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจดินแดนเล็กๆ ที่ชื่อว่าเชชเนียอีกครั้ง

 

สาธารณรัฐเชชเนียไม่ใช่ประเทศเอกราช แต่เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย และมีอดีตที่ขมขื่นนองเลือด เนื่องจากถูกปกครองโดยกดขี่จากรัฐบาลกลางรัสเซียมาตั้งแต่ในยุคสหภาพโซเวียต และแม้เมื่อโซเวียตล่มสลายหลังสงครามเย็น หลายแคว้นรอบเชชเนียได้ประกาศเอกราชเป็นประเทศโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นอาเซอ์ไบจัน อาร์เมเนีย หรือจอร์เจีย แต่เชชเนียกลับยังต้องเป็นเขตปกครองตนเองใต้รัสเซีย ทำให้ชาวเชเชนจำนวนมากลุกฮือเรียกร้องเอกราชด้วยความไม่พอใจ กลายเป็นสงครามต่อเนื่องยาวนานที่สิ้นสุดด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายเชเชน คาดกันว่าในระหว่างสงครามที่ดำเนินไปตลอดทศวรรษที่ 1990 มีชาวเชเชนเสียชีวิตไปมากกว่า 100,000 ราย

 

แต่หลังจากสงครามเรียกร้องเอกราชสิ้นสุดลง สถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม เนื่องจากกลุ่มหัวรุนแรงในพื้นที่หันไปใช้วิธีใต้ดิน ก่อการร้าย เพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย ภายใต้การสนับสนุนที่ว่ากันว่ามาจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยผลงานสำคัญๆ ของฝ่ายกบฏเชชเนียมีตั้งแต่การบุกยึดโรงเรียน จับนักเรียนเป็นตัวประกัน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ราย ไปจนถึงการวางระเบิดรถไฟใต้ดินในมอสโก

 

วิธีการเหล่านี้ ทำให้เชชเนียกลายเป็นแดนสนธยา ถูกมองว่าเป็นรังของผู้ก่อการร้าย และชาวเชเชนก็ถูกหมายหัวว่าเป็นพวกก่อการร้าย โดยเฉพาะในระยะหลังที่กลุ่มเรียกร้องเอกราชในเชชเนียสานสัมพันธ์กับเครือข่ายจิฮัดสากล เชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก รวมถึงกลุ่มอัลกออิดะห์ จนทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต้องส่งกำลังทหารเข้าไปปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในเชชเนีย กลายเป็นสงครามนองเลือดอีกครั้ง

 

แม้ว่าเมื่อการปราบปรามสิ้นสุด จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่ชาวเชชเนียมากยิ่งขึ้น และมีการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายๆ ด้าน จนกระทั่งกองทัพรัสเซียประกาศถอนทหารจากเชชเนียในปี 2552 แต่สำหรับชาวเชเชน พวกเขายังคงไม่เคยชินกับวิถีชีวิตที่สงบสุข หลังการต่อสู้ยาวนานหลายทศวรรษ เช่นเดียวกับที่ชาวรัสเซียยังไม่เคยชินที่จะลบภาพชาวเชเชนในฐานะผู้ก่อการร้ายออกไปจากใจ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog