ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลจนมาถึงปัจจุบัน สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างระบบเก่าและระบบใหม่

รายงานพิเศษชุด ท่องแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 4

 

ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลจนมาถึงปัจจุบัน สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างระบบเก่าและระบบใหม่  อินเดียเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู พุทธและมุสลิม

 
หลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1947  อินเดียปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้โครงสร้างสาธารณรัฐ  แบ่งเป็น 28 รัฐ และดินแดนกึ่งรัฐอีก 7 แห่ง อินเดียมีประชากรกว่า 1 พันล้านคน นับถือศาสนาฮินดูร้อยละ 82.41 นับถืออิสลามร้อยละ 11.67 นับถือศาสนาพุทธเพียงร้อยละ 0.77  แม้อินเดียจะเป็นดินแดนที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม
 
 
วิถีชีวิตของคนอินเดียได้รับอิทธิพลความเชื่อ ความศรัทธาจากศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ และมีวิธีชีวิตภายใต้ศรัทธาของตนอย่างเคร่งครัด   เห็นได้ชัดจากการถือระบบ "วรรณะ" อย่างเคร่งครัด
 
 
ระบบวรรณะทั้ง 4 เกิดจากชาวอารยัน เข้ามารุกรานชนพื้นเมืองอินเดีย ทำสงครามกับเจ้าของถิ่นเดิมที่เรียกว่าพวกมิลักขะ  จนได้รับชัยชนะ พวกมิลักขะต้องถอยร่นไปทางใต้  เหล่าอารยันจึงใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือในการแบ่งวรรณะ  โดยถือว่า วรรณะทั้ง  4  เกิดจากอวัยวะของพระพรหมที่ต่างกัน
 
 
วรรณะแรก คือ วรรณะพราหมณ์ เกิดจากพระโอษฐ์ หรือปากของพระพรหม สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือสีขาว  มีหน้าที่ กล่าวมนตร์ ให้คำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน  ส่วนพวกนักบวชทำหน้าที่สอนศาสนา
 
 
วรรณะที่สอง คือ วรรณะกษัตริย์  เกิดจากพระอุระ หรืออกของพระพรหม ถือว่าสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์   สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะ คือสีแดง หมายถึง นักรบ ทำหน้าที่รบเพื่อป้องกันอาณาจักร รวมทั้งพระเจ้าแผ่นดิน  นักปกครอง
 
 
วรรณะที่สาม คือ วรรณะแพศย์  เกิดจากพระเพลา หรือตัก ของพระพรหม สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือ สีเหลือง  มีหน้าที่เป็น พ่อค้า คหบดี เศรษฐี และเกษตรกร
 
 
วรรณะที่สี่  คือ วรรณะศูทร เกิดจากพระบาท หรือเท้าของพระพรหม สีเครื่องแต่งกายประจำคือ สีดำ หรือสีอื่นๆ ที่ไม่มีความสดใส  มีหน้าที่เป็นกรรมกร ลูกจ้าง 
 
 
นอกจากนี้ยังมีคนอีกวรรณะหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นพวกต่ำที่สุด คือ จัณฑาล  หมายถึง ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะกัน  ซึ่งจะถูกรังเกียจ เหยียดหยาม ไม่มีคนในวรรณะอื่นคบหาสมาคมด้วย
 
 
การถือวรรณะอย่างรุนแรงเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมอินเดียทั้งก่อนพุทธกาล และสมัยพุทธกาล แต่ดูเหมือนชาวอินเดียจะยอมรับวรรณะตามชาติกำเนิดโดยไม่ต่อต้าน  แม้จะมีความแตกต่างทางชั้นวรรณะ แต่สิ่งหนึ่งที่สวนทางคือ ระบบการศึกษา โดยองค์การยูเนสโกจัดอันดับให้อินเดียเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก  ดังนั้นจึงมีนักศึกษาจากต่างประเทศ รวมถึงพระสงฆ์จากประเทศไทยไปศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยในอินเดียจำนวนมาก  เพราะนอกจากมาตรฐานการศึกษาแล้ว ค่าเล่าเรียนก็ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก
 
 
แม้ชาวอินเดียจะนับถือศาสนาพุทธน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ชาวพุทธจากทั่วโลกต่างแสวงหาโอกาสไปแสวงบุญ ณ ดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้   เช่นเดียวกับคณะจากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กว่า 30 ชีวิตที่เดินทางไปอินเดีย  มีผู้อุปสมบทใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นพระ 5 องค์ และเณรน้อยอีก 1 องค์  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในเทศกาลมาฆบูชา  พระบวชใหม่ทุกรูปมีศรัทธาตั้งมั่น และรู้สึกปิติที่ได้เดินทางมาบวช ณ แดนพุทธภูมิ
 
 
โครงการนำผู้มีส่วนชี้นำสังคม เช่น สื่อมวลชน  นักปกครอง เป็นโครงการนำร่องของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980  หลังจากดำเนินโครงการปฎิบัติธรรมเชิงลึกของพระสงฆ์ มาแล้ว 4 รุ่น นอกจากพระสงฆ์ไทยแล้ว ยังขยายความร่วมมือด้านศาสนาไปยังประเทศ กัมพูชา ลาว  เวียดนาม และพม่า  โดยชูแนวคิด "พุทธพลิกโลก" คือ การพลิกจากมิจฉาทิษฐิ เป็นสัมมาทิษฐิ  พลิกจากความมืดเป็นความสว่าง  และยังต้องการพลิกฟื้นแดนสุวรรณภูมิ ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา  ณ ดินเแดนสุวรรณภูมิ  
 
 
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จึงเดินหน้าสานความร่วมมือกับสมเด็จพระสังฆราชของประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาว กัมพูชา  เวียดนาม และพม่า โดยใช้"ศาสนาพุทธ" เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog