สังคมอังกฤษ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นสังคมที่ยึดติดกับชนชั้นวรรณะมากที่สุดสังคมหนึ่ง ในอดีตผู้คนในสังคมเคยมีแค่ 3 ชนชั้น แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการจัดแบ่งคนอังกฤษใหม่ ออกเป็น 7 ชนชั้น โดยใช้ตัวชี้วัดที่ไม่ใช่แค่ฐานะ อาชีพ และการศึกษาอีกต่อไป
สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมา ส่งผลต่อการแบ่งชนชั้นของคนอังกฤษ สังคมที่ในอดีต เรียกได้ว่ายึดติดกับเรื่องชนชั้นวรรณะอย่างมากสังคมหนึ่งในโลก พิสูจน์ได้จากผลการสำรวจของห้องแล็บบีบีซีครั้งประวัติศาสตร์นี้ ได้พลิกโฉมคำนิยามของคำว่า "ชนชั้นของอังกฤษ" ไปอย่างสิ้นเชิง
จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอังกฤษ 16000 คนทั่วประเทศ พบว่า สังคมอังกฤษยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ 3 ชนชั้นอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป ไม่ใช่แค่ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างหรือชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่แบ่งได้ถึง 7 ชนชั้น อีกทั้งตัวชี้วัดที่ใช้ในการแบ่งชนชั้นก็มีมากขึ้น จากเดิมที่มีแค่เรื่องอาชีพ ฐานะ และการศึกษา กลายเป็นว่า ต้องเอาเรื่องของต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมาประกอบการพิจารณาด้วย หรือพูดง่ายๆ คนอังกฤษถูกแบ่งตามฐานเงินเดือน เงินเก็บในธนาคาร ราคาบ้านที่ซื้อ กิจกรรมยามว่าง ความมีหน้ามีตาในสังคม หรือแม้แต่อาชีพของเพื่อนที่แต่ละคนคบหาสมาคม
7 ชนชั้นที่ว่านี้ มีคนที่อยู่ในชนชั้นเดิมของตัวเองเพียงร้อยละ 39 ส่วนที่เหลือถูกแบ่งออกมาจาก 3 ชนชั้นดั้งเดิมนั่นเอง
ชนชั้นที่ 1 เรียกว่า Elite หรือผู้ลากมากดี มีทุกอย่างเพียบพร้อม ทั้งเงินทองและชื่อเสียงในสังคม
ชนชั้นที่ 2 Established middle class หรือ ชนชั้นกลางแต่กำเนิด มีฐานะรวยรองลงมา และชอบเข้าสังคมเป็นที่สุด ทำให้มีหน้ามีตาในสังคมอย่างมาก ถือเป็นกลุ่มคนที่มีมากที่สุด ประมาณร้อยละ 25
ชนชั้นที่ 3 Technical middle class หรือ ชนชั้นกลางแค่ในนาม ที่เรียกเช่นนี้ เพราะเป็นผู้มีอันจะกิน ต่างกันตรงที่ไม่ค่อยชอบออกงานสังคม และไม่แคร์สื่อ จึงทำให้มีต้นทุนทางสังคมน้อยกว่า
ส่วน 2 ชนชั้นหลังจากนี้เคยเป็นแรงงานชั้นต่ำของสังคม แต่ทุกวันนี้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ เราเรียกกลุ่มแรกว่า New affluent workers หรือแรงงานรุ่นใหม่ คนพวกนี้อายุยังน้อย แต่ทำงานได้เงินเยอะ ทั้งยังชอบเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก
ขณะที่ชนชั้นที่ 5 เรียกว่า Traditional working class หรือ ชนชั้นแรงงานดั้งเดิม ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 66 ปี หรือเรียกว่าเกษียณแล้ว คนเหล่านี้เคยมีต้นทุนต่ำในทุกด้าน รายได้น้อย การศึกษาต่ำ ไร้ชื่อเสียง แต่ด้วยความที่ทำงานมาทั้งชีวิต จึงมีกำลังมากพอที่จะซื้อบ้านราคาแพงๆได้
แตกต่างจากคนชนชั้นที่ 6 ที่เรียกว่า Emergent service workers คนกลุ่มนี้อยู่ในแวดวงงานรับใช้บริการลูกค้า มีรายได้ต่ำ แม้จะจน แต่พวกเขาจะได้เจอผู้คนมากมาย ทำให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคมสูง ส่วนคนชนชั้นสุดท้ายก็คือคนที่ยากจนที่สุดในสังคม เคยยากจนอย่างไรในอดีต ก็ยังยากจนอยู่เช่นนั้น แต่มีจำนวนถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ
นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ พยายามวิเคราะห์ผลการสำรวจนี้ ก่อนจะพบว่า ช่องว่างระหว่างคนที่รวยที่สุดและจนที่สุดก็ยังมีอยู่ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจ ชนชั้นแรงงานพยายามถีบตัวเองขึ้นมา จนมีฐานะร่ำรวยและมีชื่อเสียง แทบไม่ต่างจากชนชั้นสูงอีกต่อไป นี่จึงถือเป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงของสังคมอังกฤษในศตวรรษที่ 21 ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด