ทองคำ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับมีค่า ยังเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรและการลงทุนที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่ง ความต้องการทองในตลาดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดคำถามที่ว่าเรามีโอกาสเผชิญภาวะ "ทองหมดโลก" หรือไม่
โลหะสีทองเปล่งประกายชนิดนี้ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานหลายพันปี และเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดทั้งสงครามและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทองคำไม่ใช่เพียงเครื่องประดับ สิ่งการันตรีมูลค่า หรือใช้แทนเงินตราเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่ได้ชื่อว่ามั่นคงปลอดภัยที่สุดชนิดหนึ่งในตลาดการเงินโลกที่กำลังผันผวนในปัจุบันอีกด้วย
แต่ทองก็เหมือนเงินตรา ที่มีแต่คนอยากได้ ไม่ว่าจะเพื่อชื่นชมความงามหรือเพื่อเก็งกำไร แต่ทองคำมีจำนวนจำกัด นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในมหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังของโลก ประเมินว่าในโลกนี้มีทองคำที่ถูกขุดขึ้นมาจากพื้นดินแล้วประมาณ 171,000 ตัน ซึ่งหากจะนำทองทั้งโลกมาหลอมรวมเป็นทองคำแท่งขนาดยักษ์แท่งเดียว ก็จะได้แท่งทองคำขนาดประมาณ 20.7 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการทองในตลาดโลก และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทองคำเป็นโลหะมีค่าที่แพงที่สุดในโลก
แต่สำหรับคำถามที่ว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ทองคำจะหมดโลก หรือมีน้อยเกินความต้องการของตลาดมากจนราคาทองถีบตัวสูงขึ้นกว่าในปัจจุบันหลายเท่า คำตอบก็คือ เป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากประการแรก สินแร่ทองคำไม่ได้อยู่ในสถานะขาดแคลนเหมือนน้ำมันปิโตรเลียม สถาบันอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐฯประเมินว่ายังคงมีทองคำอยู่ในผืนดินมากกว่า 52,000 ตันรอการขุดค้น
นอกจากนี้ ทองคำประมาณ 170,000 ตันที่ประเมินกันว่ามีอยู่ในโลก ก็เป็นเพียงตัวเลขคร่าวๆอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริง ยังมีทองอีกจำนวนมากที่อยู่ในตลาดมืด ผ่านกระบวนการผลิตจากเหมืองเถื่อน ที่สำคัญที่สุดจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ของโลก ไม่เคยเปิดเผยปริมาณทองที่ขุดได้ในแต่ละปีอย่างชัดเจน แต่คาดกันว่าทองคำจากจีนที่ไหลออกสู่ตลาดโลกน่าจะมีปริมาณมหาศาลในแต่ละปี และหากเอาทองในตลาดไม่เป็นทางการมารวมด้วย น่าจะมีทองคำในโลกนี้มากกว่า 2 ล้าน 5 แสนตัน
และเหตุผลประการสำคัญที่สุดที่ทำให้เป็นเรื่องยากที่ทองจะหมดโลก ก็คือทองคำเป็นวัตถุดิบที่มีค่าจนไม่เคยถูกทิ้งขว้าง และถูกนำกลับมารีไซเคิล หลอมรวมขึ้นรูปใหม่อยู่เสมอ นับตั้งแต่มีการทำเหมืองทองครั้งแรกเมื่อกว่า 6,000 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มีทองหายไปจากตลาดน้อยมาก และเป็นไปได้ว่าแหวนทองของคุณอาจจะมีทองจากเหมืองสมัยโรมันเจือปนอยู่ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม การที่ในปัจจุบันทองคำกว่าร้อยละ 12 ที่ผลิตได้ ถูกนำไปผสมกับโลหะชนิดอื่นเพื่อใช้ผลิตสินค้าเชิงอุตสาหกรรม และเป็นการผสมในปริมาณน้อยมากจนไม่คุ้มค่าที่จะนำทองคำจากสินค้านั้นๆมาสกัดใช้ใหม่ ทำให้ทองคำจำนวนหนึ่งถูก "บริโภค" หมดไปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ปริมาณทองที่สูญหายไปด้วยเหตุผลนี้ ก็ยังน้อยเกินกว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อตลาดทองคำโลกอยู่ดี