เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิของไทย กลายเป็นผลิตภัณฑ์แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป ในฐานะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การรับรองดังกล่าวยังส่งผลดี ทำให้ตราสินค้าของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้รับความคุ้มครองจากการลอกเลียนแบบมากขึ้นอีกด้วย
หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า "ไวน์บอร์โด" หรือ "ชีสสวิส" ซึ่งเป็นการใช้แหล่งที่มาของสินค้าการันตีคุณภาพ ซึ่งสินค้าที่จะโฆษณาแบบนี้ได้ ต้องได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ ซึ่งเป็นชื่อ หรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่ผลิตสินค้าคุณภาพสูง และเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรปให้ "ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้" เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ชิ้นแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้รัฐบาล และผู้ประกอบการของไทยสนใจเรื่องนี้มากขึ้น จนเกิดเวทีเสวนานานาชาติว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจัดโดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
ในงานเสวนาครั้งนี้ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ถึงจีไอ เงื่อนไข และรายละเอียดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรอง นอกจากตัวสินค้าแล้ว จีไอยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ และเป็นการรับรองมาตรฐาน และคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่เชื่อถือแก่ผู้บริโภคต่อไป
สำหรับประเทศไทย และเอเชีย ยังมีผู้ผลิตจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าเท่าที่ควร หากผู้ผลิตให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น จะทำให้สินค้าของพวกเขาได้รับความคุ้มครองมากขึ้น นอกเหนือจากแค่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว
ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าให้มากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และรณรงค์ให้ผู้ประกอบการ ผลิตสินค้ามีคุณภาพในพื้นที่ใกล้เคียงกัน จัดตั้งเป็นสมาคมเพื่อจดทะเบียนคุ้มครองเป็นกลุ่ม ซึ่งสะดวก และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า อีกทั้งยังส่งเสริม และกระตุ้นให้ผู้ผลิตร่วมกันรักษาคุณภาพกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน เพื่อคงคุณค่าของสินค้าให้มีชื่อเสียง และเป็นที่จดจำของทุกคนมากขึ้นในอนาคต