ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้าม เรื่องรถไฟขนผักความเร็วสูง แต่ในหลายประเทศใช้แนวทางนี้ เพื่อขนส่งสินค้าโดยเฉพาะในทวีปยุโรป

ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้าม เรื่องรถไฟขนผักความเร็วสูงนั้น ก่อนหน้านี้ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า รถไฟความเร็วสูง จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสินค้าที่เน่าเสียง่าย เพราะทุกวันนี้ ผลผลิตต่างๆ เสียหายระหว่างขนส่งประมาณ ร้อยละ 17 - 35

 

แต่หากขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงจะไม่มีอัตราเน่าเสียเลย  และในหลายประเทศ ก็ใช้แนวทางนี้เช่นกัน และพัฒนาไปมากกว่าไทยนั่นคือ การสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อขนส่งสินค้าโดยเฉพาะในทวีปยุโรป  

 

ทวีปยุโรป เป็นทวีปที่มีการเชื่อมต่อด้วยระบบรถไฟความเร็วสูงมานานกว่า 30 ปี ทำให้แผ่นดินทั่วทั้งยุโรป เชื่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยรถไฟความเร็วสูง และการเดินทางภายในทวีปแห่งนี้ ก็สะดวกสบาย และรวดเร็วกว่าเดิมเป็นอย่างมาก ซึ่งยุโรปก็ยังไม่ได้หยุดการพัฒนาแต่เพียงเท่านี้ เพราะการใช้รถไฟความเร็วสูงในการเดินทางของชาวยุโรปและนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป

 

ดังนั้น หน่วยงานเอกชนภายใต้กรอบความร่วมมือของสหภาพยุโรป จึงได้คิดค้นโครงการที่มีชื่อว่า Euro Carex ขึ้นมา โดยโครงการดังกล่าว มีจุดประสงค์หลัก ในการใช้รถไฟความเร็วสูง เพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ของยุโรป ในการใช้ประโยชน์จากการขนส่งระบบราง

 

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อน โดยองค์กรเอกชนในเบลเยียม เกิดไอเดียใหม่ ที่ต้องการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในยุโรป ด้วยรถไฟความเร็วสูง ที่มีจุดเชื่อมต่อเมืองสำคัญของยุโรป และสนามบินแต่ละแห่งเข้าด้วยกัน ซึ่งทางองค์กรดังกล่าว ได้วิจัยและค้นคว้าข้อมูล ถึงความเป็นไปได้ของโครงการนี้ จนกระทั่งปี 2543 บริษัทบริหารจัดการสนามบินลีแยช ในเบลเยียม ก็ได้เข้าร่วมกับโครงการนี้ ตามมาด้วยบริษัทเอกชนของลอนดอน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ โดยทั้งหมดได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัย ถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สำหรับการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ที่จะเชื่อมโยงอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และเยอรมนีเข้าด้วยกัน คิดเป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร ซึ่งต่อมาจึงเรียกชื่อโครงการดังกล่าวว่า  Euro Carex โดยได้รับเงินทุนในการวิจัยจากสหภาพยุโรป

 

ความแตกต่างระหว่าง Euro Carex กับโครงการรถไฟความเร็วสูงโครงการอื่นๆ ก็คือ โครงการนี้ เน้นการเชื่อมโยงกันระหว่างสนามบินและเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เรียกได้ว่า เมื่อสินค้าที่ถูกส่งมาทางเครื่องบินถูกโหลดลงจากเครื่องเมื่อไหร่ ก็สามารถโหลดลงรถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางแห่งต่อไปได้โดยทันที ซึ่งวิธีการนี้ จะช่วยรถปริมาณการขนส่งด้วยเครื่องบิน ที่มีราคาสูงเนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีข้อจำกัดมากมาย เช่น การห้ามบินขนส่งสินค้านอกเหนือจากช่วงเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความรวดเร็วให้แก่การขนส่งสินค้า แทนการใช้รถบรรทุกเช่นในอดีตอีกด้วย

 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า โครงการ Euro Carex อาจจะเริ่มใช้งานได้จริง ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งระหว่างนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการทดสอบระบบและกำหนดเส้นทางการขนส่งที่แน่ชัดอีกครั้ง โดยเมื่อปีที่ผ่านมา Euro Carex ประสบความสำเร็จ ในการใช้รถไฟความเร็วสูงขนส่งสินค้าจากสนามบินเมืองลิยงในฝรั่งเศสไปยังสนามบินนานาชาติเซนต์แพนคราส ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยใช้รถไฟความเร็วสูง TGV ของฝรั่งเศสเป็นรถไฟต้นแบบ พร้อมกันนี้ ก็ยังมีการก่อสร้างศูนย์ขนถ่ายสินค้า ในเมืองลิยง ปารีส ลีแยช ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม และแฟรงค์เฟิร์ตเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังเมืองต่างๆ ทั่วยุโรป โดยการก่อสร้างดังกล่าว มีสหภาพยุโรปเป็นผู้รับผิดชอบ

 

ผู้บริหารของ Euro Carex คาดว่า หลังจากที่รถไฟความเร็วสูงเพื่อการขนส่งสินค้าเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จะช่วยให้การขนส่งสินค้าในยุโรปมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย 1 โบกี้สามารถบรรทุกของได้ในปริมาณ 100 ตัน ซึ่งการขนถ่ายสินค้าจากเครื่องบินมายังแต่ละโบกี้นั้น อาจใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง และสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog