เวลาพูดถึงนราธิวาส คุณนึกถึงอะไรกัน?
นราธิวาสมีชายหาดแสนสวยงามทอดยาวชื่อว่า ‘หาดนราทัศน์’ แทรกแซมด้วยแนวสนอันร่มรื่น และเป็นลมหายใจของหมู่บ้านชาวประมง ที่กระจัดกระจายตัวอยู่ทั่วผืนทราย
นราธิวาสยังขึ้นชื่อเรื่อง ‘ข้าวเกรียบกรือโป๊ะ’ ข้าวเกรียบปลาที่ใครๆ แวะมาก็ต้องซื้อเป็นของฝากกลับไปทอดรับประทาน คนพื้นที่จากปัตตานีเล่าว่า ในสามจังหวัดชายแดน ข้าวเกรียบนราฯ ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย และหอมมันสุดๆ อีกทั้งยังกรอบเคี้ยวเพลิน และแข็งกว่ากรือโป๊ะทั่วๆ ไป ราวกับนำมันฝรั่งมาฝานหนาๆ แล้วลงทอด ไม่เหมือนกับกรือโป๊ะในจังหวัดใกล้เคียง ที่ทอดออกมาแล้วฟูฟ่อง และละลายในปากง่ายกว่า
มากไปกว่านั้น นราธิวาสยังมีพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมข้าวของบอกเล่ารากเหง้าของชาวมลายูอยู่แห่งหนึ่ง และดำรงอยู่มานานกว่า 9 ปีแล้ว ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดสร้างขึ้นโดยผู้ใหญ่ ‘รัศมินทร์ นิติธรรม’ และตั้งชื่อตามหมู่บ้านอันเป็นบ้านเกิดของเขาคือ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร’
Voice On Being แวะเยี่ยมผู้ใหญ่รัศมินทร์ช่วงสายวันหนึ่งกลางสัปดาห์ เป็นประจวบเหมาะกับที่เพื่อนจากสิงคโปร์ของเขามาจัดเวิร์กช็อปการพิมพ์ลายผ้า ‘ตือลือโป๊ะ’ ให้กับคนในพิพิธภัณฑ์ ทำให้นอกจากการมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีโอกาสชมการทำผ้าโบราณอย่างใกล้ชิด ชนิดติดขอบเวที
“มาเลเซียเขากำลังรื้อฟื้นทำผ้าตัวนี้ขึ้นมาใหม่ บังเอิญเพื่อนที่สิงคโปร์ไปร่วมเวิร์กช็อปมา เพราะเรามีเครือข่ายเรื่องวัฒนธรรมทั้งในชุมชน ในประเทศ และนอกประเทศ พอดีเพื่อนเดินทางมา เขาเลยบอกให้ผมเตรียมคนไว้ 2-3 คน เขาจะมาสอนต่อ เพื่อให้คนที่นี่สานต่อ แล้วจะได้สาธิตเวลาเด็กนักเรียนมาชม หรือไม่ก็สามารถทำผ้าสวมใส่ในโอกาสต่างๆ ต่อไป ไม่ให้เกิดการสูญหาย”
ผู้ใหญ่รัศมินทร์เล่าพลางต้อนรับเราขึ้นชั้นสองของบ้านสถาปัตยกรรมมลายู ซึ่งประกอบด้วยตัวบ้าน 3 หลัง เชื่อมต่อกันเป็นบ้านหลังใหญ่ ตรงกลางเป็นระเบียงโล่ง ยกพื้นสูงสำหรับทำกิจกรรม หรือนั่งผ่อนคลาย
ครอบครัวของผู้ใหญ่รัศมินทร์ยังคงอาศัยอยู่ริเวณชั้นล่าง ส่วนชั้น 2 ทั้งหมดอุทิศเป็นส่วนพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงข้าวของบ่งบอกรากเหง้าความเป็นมลายู ทั้งหมากพลู กริช ถ้วยชาม ผ้าผืนสวย และว่าว ที่ใช้ในพิธีต่างๆ โดยเก็บสะสมมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ
ในอดีต บริเวณแหลมมลายูกินพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และช่องแคบมะละกา เป็นดินแดนของชาวมลายู ซึ่งอุดมด้วยศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นๆ
นอกจากความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร ในฐานะแหล่งเก็บรักษาข้าวของที่มีความสำคัญทางจิตใจ และประวัติศาสตร์ ผู้ใหญ่รัศมินทร์ยังมีความพยายามจะรื้อฟื้นศิลปะมลายูต่างๆ ที่สูญหายไป โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมคนอื่นๆ ที่กระจายตัวในหลายประเทศ
แน่นอนว่า เวิร์กช็อป ‘ผ้าตือลือโป๊ะ’ จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารรอคอย เพราะมีประวัติศาสตร์สำคัญในราชสำนักมาหลายร้อยปี ทว่ากลับหายไปจากการรับรู้เมื่อราว 30-50 ปีที่ผ่านมา ก่อนถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในปีที่แล้ว ณ ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากราชินีแห่งรัฐปะหังเกิดความสนใจในวัฒนธรรมมลายูเป็นพิเศษ
การรื้อฟื้นผ้าตือลือโป๊ะเริ่มต้นตั้งแต่การทำวิจัยความเป็นมา กระทั่งนำไปสู่การเวิร์กช็อปที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเพื่อนของผู้ใหญ่รัศมินทร์มีโอกาสเข้าไปร่ำเรียนมาแล้ว
“ทองหมายถึงกษัตริย์ สีเหลืองส่วนใหญ่ใช้กับกษัตริย์ ใช้ในราชสำนัก ผ้าตัวนี้ใช้เฉพาะการออกงานพิเศษๆ หลังจากนั้นจะเก็บรักษาด้วยการปัด ตากแดดอ่อนๆ แล้วสวมใส่ใหม่” ผู้ใหญ่รัศมินทร์เสริมความรู้เพิ่มเติม เมื่อเราถามถึงความหมายต่างๆ ที่ซ่อนลึกลงไปในผ้า
ผู้ใหญ่อธิบายด้วยว่า ผ้าตือลือโป๊ะสามารถใช้สร้างสรรค์เครื่องแต่งกายได้หลากหลาย ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าโพกหัว เสื้อ หรือกางเกง
ส่วนวิธีการทำก็ไม่ซับซ้อน แต่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ความปราณีต และผู้ทำต้องใจเย็นเสียหน่อย เริ่มจากการพับผ้าเป็นส่วนๆ จากนั้นรีด หรือใช้กระดาษติดบนผ้า เพื่อให้เกิดรอย เป็นการมาร์กจุดก่อนจะพิมพ์ทองคำเปลวลงไป
ผู้ทำจะใช้กาวจาก ‘ขี้ไต’ หรือยางไม้ต้มละลายด้วยน้ำ ทาไว้บนข้อมือข้างไม่ถนัด เพื่อความสะดวกในการทำงาน จากนั้นใช้แม่พิมพ์ ซึ่งมีการแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามตามแบบฉบับมลายู กดลงบนกาว แล้วกดลงบนจุดที่มาร์กไว้ จึงจะปรากฏรอยกาว ต่อด้วยการใช้ทองคำเปลวแปะทับลงบนกาว และใช้แปรงปัดส่วนเกิดออก ซึ่งลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นดอกไม้ และใบไม้
“แต่ละดอกใช้เวลาราว 5 นาที ขึ้นอยู่กับจำนวนดอกว่ามากน้อยแค่ไหน” เจ้าของพิพิธภัณฑ์เสริม เมื่ออธิบายขั้นตอนการทำ โดยมีเด็กหนุ่มที่เป็นช่างประจำของพิพิธภัณฑ์ 2-3 คน นั่งทำลายผ้าตือลือโป๊ะอย่างขะมักเขม้นอยู่ข้างๆ
ผู้ใหญ่รัศมินทร์บอกว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เด็กรุ่นใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดเริ่มหันมาสนใจความเป็นมลายูมากขึ้น จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ ความสนใจในชาติพันธุ์ตัวเองเลือนลางลงเนื่องจาก ‘ความเจริญ’ ที่เข้ามา ทว่าระยะหลังๆ มามีคนในพื้นที่พยายามแสดงออกถึงตัวตนของตนเองมากขึ้นผ่านสื่อแขนงต่างๆ และผลงานศิลปะ ก่อให้เกิดความสนใจจากเด็กรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กัน
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร จึงมีเด็กวัยรุ่นเข้านอกออกในมาร่วมงานด้วยเสมอ ทั้งเป็นไกด์นำชม รวมถึงฝึกปรือช่างฝีมือแขนงต่างๆ รื้อฟื้นวิชาศิลปะแบบมลายูโบราณที่ซ่อนเรื่องราวทั้งปรัชญา ความคิด ของคนรุ่นเก่าเอาไว้
ตลอด 9 ปีของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร ผู้ใหญ่รัศมินทร์นำทีมคนท้องถิ่น ฟื้นศิลปะมลายูหลายๆ อย่าง เพื่อคงรักษาสู่ลูกหลาน เวิร์กช็อปที่พิพิธภัณฑ์เคยจัด และยังเป็นความภูมิใจก็เช่น เวิร์กช็อปการแกะสลักลวดลายมลายู ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ช่างประจำพิพิธภัณฑ์ต่อยอดได้อีกมาก อย่างเช่นแม่พิมพ์สำหรับตือลือโป๊ะในวันนี้ ก็เป็นแม่พิมพ์ที่แกะสลักด้วยฝีมือของพวกเขา
“ปีที่แล้วเราร่วมกับกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันรามจิตติ ��ำวิจัยในสามจังหวัด ก็รื้อฟื้นการแกะสลักลวดลายมลายู เพราะปัจจุบันนี้ ช่างแกะสลักบางคนเขาบอกไม่ได้เลยว่า อะไรคือลายมลายู เขาจะแกะลอกตามๆ กันมา ดอกอะไร เขายังบอกไม่ได้เลย บางครั้งต้องเชิญช่างจากมาเลเซียมา ปีที่แล้วเชิญมาจากตารังกานู สาธิตแล้วก็อธิบายการเขียนโครงสร้าง การแกะลวดลายมลายู”
เมื่อถามว่า เอกลักษณ์ของศิลปะมลายูคืออะไร ผู้ใหญ่ตอบทันทีเลยว่า “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” ส่วนใหญ่เน้นแสดงออกผ่านลวดลายตามธรรมชาติ ดอกไม้ และต้นไม้ เป็นหลัก
“ลวดลายมลายูสังเกตว่า เวลาชนกรอบมันจะม้วนเข้าหมดเลย มันจะไม่แทงกรอบ เพราะมลายูมีความนอบน้อม กรอบพวกนี้จะเป็นสิ่งที่แข็ง อาวุโส เราจะไม่ไปชน เราจะไม่ทิ่มแทงผู้อาวุโส
“ศิลปะมลายูก็มีเปลี่ยนตามยุคสมัยของการปกครอง และการนับถือศาสนา ก็มีตั้งแต่ยุคลังกาสุกะ ยุคปาตานี แล้วก็ปาตานีดารุซาลาม ในช่วงอิสลามกำลังเบ่งบาน แล้วก็ยุคเจ็ดหัวเมือง ยุคสุดท้ายก็คือการเปลี่ยนมาเป็นจังหวัด สุดท้ายศิลปะของมลายูที่นี่ จุดเด่นก็คือ การนอบน้อม การใช้ชีวิตที่มีกรอบของศาสนา คอยเป็นกรอบให้เราเดิน”
ผู้ใหญ่รัศมินทร์ยอมรับว่า ในอดีตตนก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป ที่ไม่ได้ให้ความสนใจวัฒนธรรม ที่มาของชาติพันธุ์ตัวเอง แต่ด้วยความพี่พ่อเป็นนักสะสมวัตถุ เหตุนี้น่าจะจุดประกายบางอย่างให้สุดท้ายเขาเลือกจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาหลังจากพ่อเสียชีวิต และเขาเรียนจบ ได้กลับมาเป็นผู้นำชุมชนของที่นี่
“แรกๆ ตอนสร้างพิพิธภัณฑ์ก็ท้อหลายอย่าง เพราะไม่ได้จบประวัติศาสตร์ และในอดีตไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์มากมาย พอช่วงต้องทำพิพิธภัณฑ์ มันต้องใช้เงิน ไหนเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ ไหนเงินที่จะต้องซื้อของวัตถุต่างๆ ไหนเงินเลี้ยงครอบครัว บางครั้งก็ท้อ บางครั้งบ้านที่เราคิดว่าจะทำเป็นที่อยู่อาศัย เราก็จะต้องบอกครอบครัวว่า เราไปอยู่ข้างล่างนะ ข้างบนมันเป็นพิพิธภัณฑ์
“แต่พอทำพิพิธภัณฑ์เราได้รู้ว่า มันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในพื้นที่สามจังหวัด ตอนที่ผมทำพิพิธภัณฑ์นั้น ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ (ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมลายู) แม้แต่รัฐก็ยังไม่สร้างพิพิธภัณฑ์ให้กับคนในสามจังหวัด
“พอทำแล้วรู้สึกว่า มันเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่งที่คนชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องมาบอกเล่าเรื่องราวของตนเองไม่ใช่เรื่องความเป็นมลายูแล้วคนกรุงเทพฯ มาเป็นผู้บอกเล่า แบบนี้ไม่ถูก เรื่องของวัฒนธรรม มันจะแฝงด้วยความเชื่อ แฝงด้วยศาสนา เพราะงั้นผมคิดว่า เรื่องของความเป็นมลายูที่นี่น่าจะมีใครสักคนหนึ่งที่เป็นคนมลายู เป็นคนตอบ มันจะได้ถูกต้อง จะได้ไม่เขียนให้บิดเบือนความจริง การเขียนเรื่องถูกต้อง การอธิบายมรดกภูมิปัญญาถูกต้อง ทำให้เด็กๆ เขาสัมผัส เขารับในสิ่งต่างๆ จากเรา เขาก็อยากจะรักษาให้มันคงอยู่” ผู้ใหญ่รัศมินทร์ทิ้งท้าย