ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ประสบความสำเร็จในการฟักตัวอ่อนจากตัวอย่างเซลล์แช่แข็ง ของกบที่สูญพันธุ์ไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ 1980

นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ประสบความสำเร็จในการฟักตัวอ่อนจากตัวอย่างเซลล์แช่แข็ง ของกบที่สูญพันธุ์ไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ 1980


การนำเซลล์ของสัตว์ที่สูญพันธุ์มาสกัดดีเอ็นเอ เพื่อเพาะพันธุ์ให้พวกมันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อาจเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคิดว่ามีอยู่แค่ในภาพยนตร์ไซ-ไฟ อย่างจูราสสิค ปาร์คเท่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียกลุ่มนี้พิสูจน์ว่า หลักการดังกล่าวสามารถเพาะพันธุ์สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อย่างกบ"แกสติก บรูดดิ้ง" (Gastric-Brooding) ให้กลับมามีชีวิตใหม่ได้จริง


ศาสตราจารย์ไมเคิล มาฮอนี หนึ่งในนักวิจัยของโครงการบอกว่า เขาและทีมงานได้นำเซลล์แช่แข็งของกบสายพันธุ์ดังกล่าว มาทำการสกัดดีเอ็นเอ ก่อนนำไปเพาะในไข่ของกบสายพันธุ์ใกล้เคียง อย่าง เกรท แบเรด (Great Barred Frog) เป็นผลสำเร็จ


ด้านนายแพทย์จอห์น คลูโลว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์บอกว่า หลังจากการพิสูจน์ดีเอ็นเอ ของตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโต พบว่า พวกมันเป็นกบสายพันธุ์แกสติก บรูดดิ้งจริง อย่างไรก็ตาม การทดลองครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จในขั้นต้นเท่านั้น โดยนับจากนี้ ทีมงานจะต้องเฝ้าดูการเจริญเติบโตของเซลล์ตัวอ่อนอย่างใกล้ชิด จนกว่าพวกมันจะฟักตัวออกจากไข่ จึงจะสามารถยืนยันได้ว่า การเพาะพันธุ์กบสายพันธุ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จ


กบสายพันธุ์แกสติก บรูดดิ้ง มีลักษณะเด่นตรงที่พวกมันจะฟักตัวอ่อนในกระเพาะอาหาร ก่อนที่จะปล่อยลูกน้อยออกสู่โลกภายนอกผ่านทางช่องปาก โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ประกาศให้กบสายพันธุ์ดังกล่าว เป็นสัตว์สูญพันธุ์ตั้งแต่ปี 2526 เนื่องจากการบุกรุกถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมันโดยมนุษย์


นายแพทย์คลูโลว์ และทีมงานหวังว่า เทคโนโลยีนี้ จะสามารถช่วยเพาะพันธุ์สัตว์ที่สูญพันธุ์แล้ว หรือกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร ซึ่งอาจช่วยให้โลกรักษาสมดุลทางธรรมชาติได้มากขึ้นในอนาคต

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog