แพทย์เตือน ผู้ที่ร้อยไหมทองไม่สามารถเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ เนื่องจากทองคำเป็นโลหะ จะมีความร้อนสูง ทำให้ภายในไหม้และทำให้หน้าผิดรูปจนเสียโฉมได้
การร้อยไหมทองเพื่อช่วยให้ผิวหน้ากระชับอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ เรื่องนี้ พญ.วิไล ธนสารอักษร อาจารย์พิเศษแผนกผิวหนัง คณะแพทศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผู้ที่ร้อยไหมทองไม่สามารถเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เนื่องจากทองเป็นโลหะ เครื่องจะไม่รับโลหะเข้าเครื่อง โดยปกติผู้ที่จะตรวจด้วยเครื่องนี้ต้องนำโลหะออกจากตัวทั้งหมด แต่บางครั้งผู้ที่ร้อยไหมทองอาจลืมว่าตัวเองมีโลหะอยู่ที่หน้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้หารือกับแพทย์รังสีในกลุ่มโรงเรียนแพทย์แล้วว่า ควรมีการเพิ่มเช็กลิสต์ก่อนเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ ด้วยการระบุเฉพาะเจาะจงว่า ร้อยไหมทองที่หน้าหรือไม่ เพื่อช่วยกระตุ้นความจำของผู้ป่วยบางรายที่เคยทำแต่ลืม หรือคิดไม่ถึงว่าทองก็เป็นโลหะ เชื่อว่าอนาคตจะให้ใช้เป็นมาตรฐานทุกแห่ง
"ผู้ที่ร้อยไหมทองเมื่อป่วยหนัก โดยเฉพาะโรคทางสมองจะไม่สามารถเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจที่มีความละเอียดสูงได้ จะใช้ได้เพียงการตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนที่มีความละเอียดน้อยกว่า ที่สำคัญเมื่อร้อยไหมทองแล้วไม่สามารถแก้ไขหรือเอาออกได้เพราะทองที่ร้อยเข้าไปจะถูกพังผืดยึดเอาไว้ หากไปดึงทองออกจะทำให้ผิวหน้าโดนดึงรั้งเข้าไปภายใน เกิดเป็นผิวบุ๋มที่หน้า ทำให้หน้าผิดรูปจนเสียโฉมได้ เหมือนกับการที่เอาเชือกไปร้อยไว้ที่เพดานเมื่อดึงรั้งเชื่อกออกเพดานก็ยุบลงด้านล่าง " พญ.วิไลกล่าว
อาจารย์ด้านผิวหนัง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เคยมีผู้ที่เข้ารับการร้อยไหมทองจากคลินิกหนึ่งเวลาผ่านไป 1-2 ปี ใบหน้าไม่ยกกระชับตึงเหมือนเดิม จึงไปเข้ารับการทำเลเซอร์หน้าใสที่คลินิกอีกแห่ง โดยไม่ได้แจ้งคลินิกแห่งใหม่ว่าได้ร้อยทองที่หน้า ปรากฎว่าเมื่อทำเลเซอร์เส้นไหมทองขาด หน้าผิดรูปกว่าเดิม หย่อนคล้อยกว่าเดิมและทองละลายกระจายออกที่ใบหน้า ดังนั้นขอเตือนคนที่คิดจะร้อยไหมทองให้พิจารณาถึงความจำเป็น และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเจ็บป่วยจำเป็นต้องใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอไม่สามารถใช้ได้ ก่อนจะทำอะไรบนใบหน้า โดยเฉพาะเครื่องมือที่ต้องใช้ความร้อนต้องแจ้งทุกครั้งว่าร้อยไหมทอง
ทั้งนี้ การร้อยไหม มีทั้งการร้อยไหมถาวร และไหมละลายที่แยกออกเป็นอีก 2 กลุ่ม คือ ไหมละลายแบบมีเขี้ยวและแบบไม่มีเขี้ยว ซึ่งไหมละลายแบบไม่มีเขี้ยวนั้น ปัจจุบันนิยมร้อยเพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ทำให้หน้าใสกระชับขึ้นเป็นไปตามปกติของผิวเมื่อถูกกระตุ้นในชั้นหนังแท้ อย่างไรก็ตาม หากคนไข้ต้องการร้อยไหมเพื่อหวังผลเช่นนี้ วิธีการอื่น เช่น การ ทำเลเซอร์ก็จะช่วยได้ โดยการร้อยไหมควรทำในกรณีที่ใบหน้ามีการหย่อนคล้อย ซึ่งไหมละลายแบบมีเขี้ยวจะช่วยยกกระชับใบหน้าให้หายหย่อน คล้อยได้ดีกว่าไหมแบบไม่มีเขี้ยว จะเข้าไปยกกระชับชั้นผิวที่ลึกกว่าชั้นหนังแท้ ทำให้ใบหน้า กระชับเฉพาะจุดที่ต้องการ
"การร้อยไหมชนิดนี้จะเป็นการดึงเฉพาะจุดที่มีปัญหา และใช้ไหมจำนวนเส้นน้อยที่สุด ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น เช่น บวมแดงก็น้อยด้วย ส่วนการร้อยไหม ถาวร ถือเป็นอันตราย จะก่อให้เกิดเนื้องอกของสิ่งแปลกปลอมได้ เนื่องจากเป็นไหมที่ไม่ละลาย เมื่อต้องร้อยไหมซ้ำ ๆ จะเกิดการสะสมจนเป็นเนื้องอก " พญ.วิไลอธิบาย
ด้าน นพ.สว่าง กรรมการผู้จัดการด็อกเตอร์ ยังเกอร์ คลินิก กล่าวว่า ไหมทองที่ใช้ในการร้อยเข้าที่ใบหน้า หากไม่ผ่านการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายอีกทั้งในระดับสากลไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย มีสถานบริการบางแห่งเท่านั้น ที่เสนอการร้อยไหมทองที่หน้าให้แก่ลูกค้าเพื่อหวังผลทางธุรกิจต่างจากการร้อยไหมละลาย ที่เป็นไหมชนิดเดียวกับที่ใช้ในการเย็บแผลที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ฉะนั้นแพทย์ผิวหนังทุกคนจะปฏิเสธการร้อยไหมทองให้แก่คนไข้
"ปัจจุบันเกิดเป็นกระแสหรือแฟชั่นในกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมร้อยไหมละลายแบบไม่มีเขี้ยว ทำให้หน้าใส และมีความเชื่อผิดๆ ว่า ยิ่งร้อยไหมจำนวนเส้นมากจะช่วยทำให้หน้าใสมากขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หากมีจำนวนเส้นไหมมากอาจทำให้เกิดพังผืดภายใต้ผิวหนัง เกิดการหย่อน ดึงรั้งผิวจนหน้าบุบหรือผิดรูปได้" นพ.สว่างกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอ็มอาร์ไอ คือการตรวจร่างกายโดยเครื่องตรวจที่ใช้คลื่นสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุในการสร้างภาคเหมือนจริงของอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ และส่วนที่เป็นมะเร็ง ด้วยคอมพิวเตอร์รายละเอียดและความคมชัดสูง ทำให้แพทย์สามารถตรวจวินัจฉัยความผิดปกติในร่างกายได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ในร่างกายของผู้รับการตรวจจะต้องไม่มีวัสดุที่เป็นโลหะ เพราะอาจมีการเคลื่อนย้ายของโลหะเหล่านี้ในร่างกาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
source : คมชัดลึก / netanart (image)