ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์อเมริกาใต้เผยปริมาณน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีส ที่ละลายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ที่พึ่งพาแหล่งน้ำดังกล่าว และอาจละลายหายไปทั้งหมดในอีกไม่กี่สิบปี

นักวิทยาศาสตร์อเมริกาใต้เผยปริมาณน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีส ที่ละลายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ที่พึ่งพาแหล่งน้ำดังกล่าว และอาจละลายหายไปทั้งหมดในอีกไม่กี่สิบปี


เทือกเขาแอนดีส เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งพาดผ่านหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย โคลัมเบีย  เอกวาดอร์  และเปรู นับเป็นเทือกเขาที่มีขนาดยาวที่สุดในโลก ซึ่งเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเทือกเขาแห่งนี้ ก็คือน้ำแข็งที่ปกคลุมยอดเขาตลอดทั้งปี


อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมยอดเขานั้นลดลงไปมากจนสามารถสังเกตได้ด้วยตา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากอัตราการละลายของน้ำแข็งยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลให้หิมะบนเทือกเขาแอนดีส ทั้งหมดละลายหายไปในปี 2593


นายเอดิสัน รามิเนส หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเทือกเขาแอนดีสมาอย่างยาวนานเล่าว่า จากการเก็บสถิติประมาณน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีส ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณน้ำแข็งลดลงไปกว่าร้อยละ 43 ซึ่งสาเหตุหลัก มาจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


โดยหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่บ่งบอกถึงปริมาณน้ำแข็งที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ก็คือภาพถ่ายดาวเทียมที่นักวิทยาศาสตร์บันทึกได้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนายรามิเนส ได้สร้างแบบจำลอง 3 มิติของเทือกเขาแอนดีส จากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งแบบจำลองแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงปริมาณน้ำแข็งที่ลดลง


ทั้งนี้ น้ำแข็งที่อยู่บนเทือกเขาแอนดีส ถือเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญแห่งหนึ่งของอเมริกาใต้ เนื่องจากน้ำแข็งเหล่านี้จะละลายในช่วงฤดูร้อน จากนั้นมันจะไหลลงสู่แม่น้ำสายต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงชาวอเมริกาใต้มาเป็นเวลานาน ซึ่งอัตราการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีสที่ผิดปกตินี่เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนวิตกกังวลว่า ประชาชนชาวอเมริกาใต้ ที่อาศัยใกล้กับเทือกเขาแอนดีส อาจไม่มีน้ำสะอาดไว้ใช้อุปโภคบริโภคในอนาคต หากน้ำแข็งที่อยู่บนเทือกเขานั้นละลายหมดไป


และสิ่งที่น่าวิตกกังวล ก็คือหนทางที่จะแก้ไขไม่ให้น้ำแข็งละลายตัวเร็วกว่าปกติก็เป็นไปได้ยาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่า หากน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีสละลายหมดไป ชาวบ้านรวมทั้งสัตว์ต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำดังกล่าว จะสามารถหาแหล่งน้ำใหม่ได้หรือไม่ และถ้าหาแหล่งน้ำใหม่ไม่ได้ พวกเขาจะดำรงชีวิตอยู่ ท่ามกลางแหล่งน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างไร

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog