อุบัติเหตุบอลลูนตกที่เมืองลักซอว์ของอียิปต์ ส่งผลให้ทั่วโลกเริ่มหันมาตื่นตัวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของทัวร์ลอยฟ้าชนิดนี้ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าจริงๆแล้วบอลลูนเป็นพาหนะที่ปลอดภัยเพียงพอสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวหรือไม่
ภาพวิวทิวทัศน์อันสวยงามตระการตาของเมืองลักซอว์แบบ Bird's Eye View เช่นที่คุณผู้ชมเห็นอยู่นี้ เป็นจุดขายสำคัญของทัวร์บอลลูน กิจกรรมยอดนิยมของบรรดานักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวชมเมืองโบราณซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิหารคาร์นักและหุบผากษัตริย์ โบราณสถานไอยคุปต์โบราณที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก เนื่องจากภาพของร่องรอยอารยธรรมอียิปต์โบราณที่อาบแสงสีทองของพระอาทิตย์ เป็นภาพที่จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากมุมสูงเท่านั้น
กิจกรรมทัวร์บอลลูนชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะโบราณสภาน ไม่ได้มีเฉพาะในลักซอว์เท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปทั่วโลก อย่างเช่นในเมืองพุกามของเมียนมาร์ ที่กิจกรรมทัวร์บอลลูนชมความงามของเจดีย์นับหมื่นองค์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองโบราณแห่งนี้ กลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์ที่สำคัญที่สุดของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเมียนมาร์ แม้ว่าทัวร์ลอยฟ้าแบบนี้จะมีราคาแพงถึงเกือบหมื่นบาทต่อหัวก็ตาม
แต่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การท่องเที่ยวด้วยบอลลูนตกเป็นที่วิพากษ์ซิจารณ์อย่างหนัก นั่นก็คืออุบัติเหตุบอลลูนนักท่องเที่ยวระเบิดและตกที่เมืองลักซอว์ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตถึง 19 ราย โดยทั้งหมดเป็นชาวยุโรป
โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ ส่งผลให้นานาชาติหันมาตั้งคำถามว่าจริงๆแล้วบอลลูนเป็นพาหนะที่ปลอดภัยเพียงพอสำหรับการนำมาให้บริการนักท่องเที่ยวหรือไม่
อันที่จริงแล้ว ก่อนหน้าเหตุบอลลูนตกในอียิปต์ เคยเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุบอลลูนตกที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในทำนองเดียวกันนี้เพียงครั้งเดียว นับตั้งแต่มีการประดิษฐ์บอลลูนเมื่อปลายคริสตศตวรรษที่ 18 นั่นก็คือเหตุบอลลูนชนกันที่ออสเตรเลียเมื่อปี 2532 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบอลลูนก็ได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการบินว่าเป้นพาหนะทางอากาศที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากบอลลูนใช้การลอยตัว ไม่มีความเร็วเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุจนบอลลูนตกจริงๆ ตัวลูกบอลลูนที่ทำจากผ้าร่มก็จะทำหน้าที่เสมือนร่มชูชีพที่ค่อยๆพยุงกระเช้าบอลลูนซึ่งเป็นห้องโดยสารให้ร่อนลงสู่พื้นได้โดยไม่ได้รับความกระทบกระเทือนมากนัก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอันตรายต่อบอลลูนมากที่สุด ก็คือสายไฟฟ้า โดยอุบัติเหตุเกี่ยวกับบอลลูนเกือบทั้งหมด มักเกิดจากการที่บอลลูนไปเกี่ยวกับสายไฟจนเกิดไฟช็อตและลุกไหม้เป็นเปลวเพลิง ซึ่งหากเกิดไฟไหม้ขณะบอลลูนลอยอยู่กลางอากาศ หนทางเดียวที่กัปตันและผู้โดยสารจะทำได้ ก็คือการโดดออกจากบอลลูน เพราะการดับไฟขณะอยู่บนบอลลูนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ แต่บางครั้งหากบอลลูนลอยอยู่สูงจากพื้นมากๆ การสละบอลลูนก็เป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน
สำหรับสาเหตุของโศกนาฏกรรมบอลลูนตกในเมืองลักซอร์ ก็เริ่มต้นจากเหตุไฟไหม้เช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลอียิปต์แถลงสาเหตุเบื้องต้นของอุบัติเหตุในครั้งนี้ว่าเกิดจากแก๊สที่ใช้ผลิตลมร้อนในบอลลูนเกิดลุกไหม้และระเบิด และตัวบอลลูนเองก็ไม่สามารถต้านลมเพื่อนำกระเช้าร่อนลงสู่พื้นได้ ได้เนื่องจากฉีกขาดด้วยแรงระเบิด ส่งผลให้บอลลูนที่ลอยอยู่เหนือพื้นดิน 300 เมตรตกลงกระแทกพื้นอย่างแรงจนคนในกระเช้าเกือบทั้งหมดเสียชีวิต