ไม่พบผลการค้นหา

Thailand

ตำนาน กลุ่มวาดะห์
Feb 19, 2013
( Last update Feb 19, 2013 09:13 )
ลองไปดูเส้นทางการกลับมาช่วยงานเป็นที่ปรึกษา ภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ กลุ่มวาดะห์ เพียงแต่รอบนี้ จะมีโอกาสทำงานได้จริงแค่ไหน หรือเพียงตั้งมาแต่ในนาม

ลองไปดูเส้นทางการกลับมาช่วยงานเป็นที่ปรึกษา ภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ กลุ่มวาดะห์ เพียงแต่รอบนี้ จะมีโอกาสทำงานได้จริงแค่ไหน หรือเพียงตั้งมาแต่ในนาม

 

กลุ่มวาดะห์ หรือ "กลุ่มเอกภาพ" เป็นชื่อกลุ่มนักการเมืองที่เคยทรงอิทธิพลอย่างสูงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อตั้งโดย นายเด่น โต๊ะมีนา และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.พรรคกิจสังคม ในขณะนั้น โดยเข้าสังกัดและส่งผู้สมัคร ส.ส. ในนาม พรรคประชาธิปัตย์

 

ต่อมากลุ่มวาดะห์ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์โดยไปร่วมก่อตั้ง พรรคความหวังใหม่ ตามคำเชิญของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และต่อมาเป็นผู้นำกลุ่มแทน นายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ความสำคัญของกลุ่มวาดะห์ใน พรรคความหวังใหม่ ยิ่งสูงขึ้นเมื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มได้ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค

 

ต่อมา พรรคความหวังใหม่ ได้ยุบรวมเข้ากับ พรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ทำให้ กลุ่มวาดะห์ ย้ายมาสังกัด พรรคไทยรักไทย ด้วย โดยยังคงได้รับความสำคัญส่งผลให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และมีตำแหน่งเป็นถึง รองนายกรัฐมนตรี

 

ชื่อเสียงของ กลุ่มวาดะห์ ต้องตกต่ำลงอย่างมาก เมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ให้กับ พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่ม ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่นมากว่า 20 ปี

 

ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทย ถูกฟ้องร้องใน "คดียุบพรรค" และต่อมา ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ "ยุบพรรค" พรรคไทยรักไทย และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หนึ่งในกรรมการบริหาร พรรคไทยรักไทย ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ทำได้เพียงให้คำแนะนำ ส.ส. ในกลุ่มซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปเข้าสังกัด พรรคประชาราช อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550

 

วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550 กลุ่มวาดะห์ประชุมกันและมีมติว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ในนามพรรคพลังประชาชน ต่อมาภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชน ในปี พ.ศ. 2551 สมาชิกกลุ่มวาดะห์ จึงย้ายมาสังกัดพรรคมาตุภูมิ กระทั่งปัจจุบัน

 

สำหรับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทานักการเมืองมุสลิม แกนนำกลุ่มวาดะห์ เคยเป็นอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า "วันนอร์" เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น อดีต ส.ส. 9 สมัย เคยสังกัดในพรรคการเมืองคือ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และ พรรคไทยรักไทย

 

ปัจจุบัน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยใน คดียุบพรรค แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัด พรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 และย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน เป็นที่แน่นอน

 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดยะลา เป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 7 คน คือ

     : วันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมือง แกนนำกลุ่มวาดะห์ 
     : จุฑาทิพย์ (มะทา) อารีอิสเฮาะ ครูจังหวัดยะลา 
     : มันโซ มะทา ทำฟาร์มอยู่ที่จังหวัดราชบุรี 
     : จุฑารัตน์ (มะทา) ภริยานายสุไลมาน วงศ์พานิช อดีตวุฒิสมาชิก 
     : อนันต์ มะทา สมาชิกสภาเทศบาลนครยะลา 
     : มุกตาร์ มะทา วุฒิสมาชิกจังหวัดยะลา 
     : ซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาจังหวัดยะลา เขตอำเภอรามัน 


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จบมัธยมต้นจาก โรงเรียนประจำจังหวัด คณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และจบมัธยมปลายแผนกวิทยาศาสตร์ จาก โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สำเร็จการศึกษา ครุศาสตรบัณฑิต(มัธยมศึกษา) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2512

 

ต่อมาสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบันทิต(บริหารการศึกษา) จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2517


งานด้านการเมือง : นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในสังกัด พรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำ กลุ่มวาดะห์ ไปเข้าสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้ง พรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา ก่อนจะย้ายไปเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

     พ.ศ. 2522 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยแรก ในสังกัดพรรคกิจสังคม 
     พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 
     พ.ศ. 2524 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 
     พ.ศ. 2527 ร่วมกับ นายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง "กลุ่มเอกภาพ"(กลุ่มวาดะห์)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 
     พ.ศ. 2531 นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ "กลุ่ม 10 มกรา" ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน 
     พ.ศ. 2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับ พรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ 
     พ.ศ. 2533 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) 
     พ.ศ. 2535 นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค 
          สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 4 (จากการเลือกตั้ง 2535/1) 
          สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 5 (จากการเลือกตั้ง 2535/2) 
          รองประธานสภาผู้แทนราษฎร 
     พ.ศ. 2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ) 
     พ.ศ. 2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 6 
     พ.ศ. 2538-2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
     พ.ศ. 2539 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 7 
          ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา 
     พ.ศ. 2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 8 
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
     10 มีนาคม 2547 รองนายกรัฐมนตรี 
     6 ตุลาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
     พ.ศ. 2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 9


การดำรงตำแหน่งอื่นๆ :เป็น อมีรุ้ลฮัจญ์ ผู้นำแสวงบุญ ในพิธีฮัจญ์ เมืองเมกกะ ซาอุดิอาระเบีย , ได้รับเลือกเป็น คณะมนตรีของสันนิบาตโลกมุสลิม (รอบิเฏาะฮ์)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog