ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากกรณีเหตุระเบิดและไฟไหม้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิม่า ไดอิชิ ของญี่ปุ่น
นายลภชัย ศิริภิรมย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ อธิบายผ่านวอยซ์ทีวีว่า โครงสร้างของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีอยู่ 3 ชั้นหลักๆ คือ
- ชั้นสีแดง ที่อยู่ในสุด หรือเครื่องปฏิกรณ์ที่บรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
- ชั้นสีเหลือง คือโครงสร้างคุมเครื่องปฏิกรณ์ชั้นที่ 1 ที่เรียกว่า Primary Containment Vessel
- ชั้นสีเขียว ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายคือส่วนอาคารที่สร้างครอบเอาไว้อีกที
จากรายงานของทางทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุว่า การระเบิดที่เกิดขึ้น เกิดบริเวณชั้นสีเขียว หรือหลังคาภายนอก ของอาคารครอบโครงสร้างเครื่องปฏิกรณ์ชั้นที่ 1 หรือบริเวณชั้นนอกสุด การระเบิดจึงไม่กระทบในส่วนของเครื่องปฏิกรณ์แต่อย่างใด
สำหรับสาเหตุของการระเบิด นายลภชัย กล่าวว่า เกิดมาจาก ระบบไฟฟ้าภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หน่วยต่างๆ ขัดข้อง และระบบไฟฟ้าสำรองไม่ทำงาน จึงทำให้ระบบหล่อเย็นของเครื่องปฎิกรณ์ไม่ทำงานตามไปด้วย และความดันของก๊าซไฮโดรเจนจึงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทางญี่ปุ่นแก้ปัญหาด้วยการนำน้ำทะเลผสมสารโบรอน เติมเข้าไปในระบบเพื่อลดอุณหภูมิและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเชื้อเพลิงภายในเครื่องปฏิกรณ์
ส่วนความกังวลเรื่องสารกัมมันตรังสีที่จะรั่วไหลออกมานั้น เป็นเพราะบริเวณโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4 ซึ่งไฟไหม้ อยู่ใกล้กับบ่อเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว หากบ่อเก็บเชื้อเพลิงได้รับความเสียหาย อาจเกิดการรั่วไหลได้ ซึ่งขณะนี้ บ่อแห่งนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ
สำหรับประเทศไทย นายลภชัยยืนยันว่า ไม่ได้รับผลกระทบเพราะขนาดที่ญี่ปุ่นเองยังมีการสั่งให้ประชาชนอยู่ในบริเวณที่พักอาศัยในระยะ 30 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ไทยก็ไม่ประมาทมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ระบบการเฝ้าระวังของไทยนั้น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีสถานีเฝ้าระวัง เพื่อตรวจวัดปริมาณรังสีแกมมาในอากาศ8 สถานีทั่วประเทศ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งระดับต่ำสุดที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือด มีกำหนดไว้ที่ระดับ 500 มิลลิซีเวิร์ท ส่วนการตรวจวัดรังสีของไทยพบว่า อยู่ที่ระดับ 0.00005 มิลลิซีเวิร์ทเท่านั้น
Produced by VoiceTV