ไม่พบผลการค้นหา
เปรียบเทียบอำนาจของนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก กับนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

การบริหารจัดการเมืองใหญ่ อย่างกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ นอกจากจะอาศัยความสามารถส่วนตัวของนายกเทศมนตรีแล้ว โครงสร้างอำนาจยังถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาเปรียบเทียบกันว่าอำนาจของนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กกับนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

 

 
เมื่อพูดถึงเมืองหลวงหรือเมืองขนาดใหญ่ หลายคนมักจะนึกถึงการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง และยังเป็นที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก อันนำมาสู่ปัญหาความแออัด และความสับสนวุ่นวาย ดังนั้น เมืองแต่ละแห่ง จึงมีความต้องการผู้นำ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
 
 
แต่การที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะอาศัยความสามารถ และความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลของคนที่จะมาเป็นผู้ว่าการหรือนายกเทศมนตรีของเมืองหลวงนั้นๆ แล้ว โครงสร้างทางอำนาจ ที่กำหนดบทบาทและหน้าที่ รวมถึงอำนาจในการควบคุมหรือสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ในเมืองหลวง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
 
ซึ่งตัวอย่างของเมืองที่พ่อเมืองมีอำนาจในการบริหารจัดการสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คงหนีไม่พ้นมหานครนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา โครงสร้างอำนาจของนครนิวยอร์กนั้น ทำให้พ่อเมืองต้องรับผิดชอบในการบริหารทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องปัญหาขยะ การจราจร การจัดการงบประมาณ การเก็บภาษี ไปจนถึงการออกกฎหมาย
 
 
นอกจากนี้ หน่วยงานราชการต่างๆ ยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กโดยตรงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจ , สำนักงานดับเพลิง และ หน่วยงานด้านการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น ทำให้นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก สามารถจัดการกับปัญหาเร่งด่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การสั่งการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงการอนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน เช่น งบช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ เป็นต้น
 
 
ขณะที่ นายกเทศมนตรีของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้น แม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกจะดูเหมือนว่า มีอำนาจในการจัดการทุกอย่างในลักษณะที่คล้ายกับนายกเทศมนตรีของนครนิวยอร์ก แต่ในความเป็นจริงแล้ว อำนาจของนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน กลับมีอยู่อย่างจำกัด ไม่ต่างอะไรจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากนัก เนื่องจากนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ต้องบริหารงาน ภายใต้การดูแลของ Greater London Authority หรือ GLA ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสูงสุดที่บริหารจัดงานกรุงลอนดอน โดยภายใน GLA นั้น จะประกอบไปด้วยสมาชิกสภากรุงลอนดอน อีก 25 คน ที่จะช่วยบริหารจัดการงานใหญ่ 3 เรื่องหลัก นั่นก็คือ งานด้านการจราจร , งานด้านการวางนโยบายและจัดการกับปัญหาอาชญากรรม รวมถึงงานด้านการวางแผนสถานการณ์ฉุกเฉินและดูแลสำนักงานดับเพลิง
 
 
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนไม่สามารถใช้อำนาจของตนเองได้อย่างเต็มที่นั้น ก็เพราะว่า GLA ไม่ได้มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี เพราะการเก็บภาษีเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารของแต่ละเขตในกรุงลอนดอน ขณะเดียวกัน หน่วยงานสำคัญอย่างกรมตำรวจ ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารของ GLA อย่างเต็มตัว เพราะกรมตำรวจของกรุงลอนดอน ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ทำให้อำนาจในการจัดการกับปัญหาสำคัญทั้งหลายอาจจะเกิดความล่าช้ามากพอสมควร
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
189Article
76559Video
0Blog