แม้ก่อนหน้านี้ เครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์ จะประสบกับปัญหาทางเทคนิคต่างๆ จนทำให้ต้องเปิดตัวล่าช้ากว่ากำหนดถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม เครื่องบินรุ่นนี้นับเป็นเครื่องบินที่มีนวัตกรรมอันทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน
โบอิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์ เป็นเครื่องบินโดยสารไอพ่นรุ่นล่าสุด ที่บริษัทโบอิ้งผลิตขึ้น เพื่อตอบโจทย์สายการบินที่ต้องการความสะดวกสบาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทางโบอิ้ง ได้เริ่มคิดค้นเครื่องบินดังกล่าวในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เพื่อมาทดแทนเครื่องบินรุ่น 767 ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะยกเลิกการผลิตในอีก 10 ปีข้างหน้า
จนกระทั่งในเดือนมกราคมปี 2546 ทีมนักวิจัยของโบอิ้งจึงได้คอนเซปต์เครื่องบินรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ 7E7 โดยตัวอักษร E มีความหมายคือ Efficiency หรือ Environmental Friendly หรือแปลเป็นไทยว่า ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมาโบอิ้งได้ตัดสินใจเรียกชื่อรุ่นบินเครื่องบินดังกล่าวว่า 787 โดยมีชื่อต่อท้ายว่า "ดรีมไลน์เนอร์" ซึ่งได้จากการประกวดเสนอชื่อจากประชาชนทั่วไป เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน
โดยภายหลังจากที่โบอิ้งได้เปิดตัวเซปต์ของเครื่องบินรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์ในปี 2546 ทำให้ทางบริษัท ได้รับคำสั่งจองจากสายการบินต่างๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยมีสายการบิน"ออลนิปปอนแอร์เวยส์"ของญี่ปุ่น สั่งจองเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมากที่สุด เป็นจำนวนถึง 66 ลำ ซึ่งทางโบอิ้งประกาศว่า บริษัทจะสามารถเริ่มทำการประกอบเครื่องบินรุ่นนี้ได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2546 แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว โบอิ้งกลับออกมาประกาศว่าประสบกับปัญหาชิ้นส่วนเครื่องบินที่มีน้ำหนักมากเกินไป จึงต้องให้ทางบริษัทผู้ร่วมผลิตชิ้นส่วนดังกล่าว กลับไปศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น จนทำให้โบอิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์เปิดตัวช้ากว่ากำหนดถึง 2 ปี
จนในที่สุด เมื่อเดือนกันยายนปี 2554 โบอิ้งได้ส่งมอบเครื่องบิน 787 ดรีมไลน์เนอร์เครื่องแรกให้กับสายการบิน"ออลนิปปอนด์แอร์เวยส์" หรือเอเอ็นเอ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครื่องบินรุ่นดังกล่าวในเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
ทั้งนี้ โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ เป็นเครื่องบินแบบไอพ่น 2 เครื่องยนต์ขนาดกลาง สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 210 - 290 คน โดยเครื่องบินรุ่นนี้ มีส่วนประกอบหลักคือคาร์บอนคอมโพสิต ซึ่งเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา จึงทำให้ประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องบินไอพ่นรุ่นก่อนหน้านี้ถึงร้อยละ 20
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ล่าสุด ที่เครื่องบินรุ่นดังกล่าวประสบกับปัญหาทางเทคนิคถึง 3 ครั้ง โดยเฉพาะเหตุแบตเตอรี่ขัดข้องกลางอากาศที่ญี่ปุ่น จนเป็นเหตุให้นักบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน ทำให้สายการบินที่เป็นลูกค้าของโบอิ้ง ต่างออกมาตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่น 787 ดรีมไลน์เนอร์ ว่าอาจเกิดจากการที่โบอิ้งเร่งรัดการผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาของทางเทคนิคของเครื่องบินรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2553 เกิดเหตุเครื่องยนต์ของแอร์บัส A380 ของสายการบิน Qantas ลุกไหม้กลางอากาศ ระหว่างบินอยู่บนน่านฟ้าของอินโดนีเซีย เป็นเหตุให้นักบินต้องทำการลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ เป็นเหตุให้ Qantas ต้องงดการให้บริการเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นเวลากว่าหลายสัปดาห์ ซึ่งนอกจาก Qantas จะพบความผิดปกติในเครื่องยนต์ของ A380 ลำดังกล่าวแล้ว ทางสายการบินยังตรวจพบรอยร้าวบริเวณปีกที่ติดกับเครื่องยนต์ A380 จำนวนหลายลำของ Qantas ซึ่งบริษัทโรสรอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้กับ A380 ก็ได้ออกมายอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้กับ Qantas ในเวลาต่อมา