ประโยคความแร้นแค้นข้างต้น เกิดขึ้นบริเวณหน้ากระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส.
“พูดแล้วมันเจ็บปวด”
“จะไม่ให้ชาวนามีรถเครื่อง ไม่ให้มีโทรศัพท์ นี่แหละคำพูดจากพวกข้าราชการ”
ปากคำของ ‘เกรียงศักดิ์ อริยะฉัตรชัย’ ชาวนาเจ้าของพื้นที่ 13 ไร่ บนลุ่มน้ำเจ้าพระยา วัย 62 ปี เขาสำทับด้วยเสียงเหน่อสำเนียงอ่างทองคลอด้วยน้ำตา ก้มหน้ามองพื้นถนน ในห้วงยามหลังหกโมงเย็น
‘อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล’
บางเนื้อหาของเพลงชาติไทย ที่ถูกเปิดจากเครื่องขยายเสียงของกระทรวงการคลัง อาจซ่อนความหมายในโชคชะตาที่แตกต่างของเกษตรกร ซึ่งคงไว้ด้วยวิบากกรรมความเหือดแห้งเม็ดเงิน แต่หนี้สินกลับสวนทวีคูณ อันเป็นปัญหาคลาสสิคชั่วนาตาปี คล้ายฤดูของการทำนา
ไม่นานหลังสิ้นเสียงเพลงชาติไทย ‘วอยซ์’ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับมวลชนม็อบชาวนาจาก ‘เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.)’ ที่ออกมาผลักดันความคืบหน้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นโมเดลบรรเทาหนี้สินของเกษตร ที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’
จากกรณีเป็นหนี้กับ 4 ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK)
หลากหลายชีวิตกว่าพันคนต้องออกมานอนกางมุ้งกินข้างทางในเมืองกรุง เมื่อต้องออกมาเคลื่อนขบวนทวงถามสิทธิ ใต้ภูมิทัศน์นโยบายการเกษตรที่ล้มเหลว
“ลองเดินดูเลยในม็อบมีแต่ผู้สูงอายุทั้งนั้น บางคนที่เห็นเป็นวัยรุ่นเขาก็มาแทนพ่อแม่เขา คนที่เคยมาตั้งแต่ปี 2546 ตายไปแล้วก็เยอะ ถ้าพวกผมมา 5 คน 10 คน รัฐบาลเขาจะมองเห็นไหม อย่างมากก็รับเรื่องไว้ พอกลับไปแล้วเอาไว้ไหนก็ไม่รู้”
“อย่างเกษตรกรญี่ปุ่นเขายกย่องมากเลยนะ ถามว่าทำไมไม่ให้เราเป็นอย่างนั้นบ้าง พอมีคนมาซื้อข้าวเรา 15,000 บาท ก็หาว่าชาวนาจะเอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือย แล้วถามกลับว่าแล้วชาวนาได้เงินเขาเอาไปทำอะไรถ้าไม่เก็บ บางส่วนเขาก็เอาออกมาใช้จ่าย ถ้าชีวิตเกษตรกรดี เศรษฐกิจประเทศชาติมันจะดีขึ้นใช่ไหม”
“แต่เขาก็มาดูถูกชาวไร่ชาวนาว่าใช้เงินสิ้นเปลือง เอาไปซื้อโทรศัพท์บ้าง จัดงานแต่งงานบวชบ้าง แล้วถามว่าพวกคุณมองเกษตรกรเป็นอะไร” ชายวัย 62 ปี เล่าความ
‘เกรียงศักดิ์’ ถือเป็นหนึ่งในผู้เติบโตของขบวนการภาคประชาชน จากผลพวงการกระจายอำนาจสู่ฐานรากโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 ในยุคแห่งพลังมวลชน แม้จะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังพอมีประชาธิปไตยที่กินได้
“มูลเหตุที่ออกมากันวันนี้ เนื่องจากภาระหนี้สินที่ชาวนาไม่สามารถส่งให้สถาบันการเงินที่เราไปกู้มาได้ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพระราชบัญญัติกองทุนที่สามารถจะช่วยเหลือเกษตรกร ชาวนาเขาไม่มีที่พึ่งทางอื่น ก็ต้องเลือกที่จะเคลื่อนไหว เพื่อหวังว่าจะให้กองทุนซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลช่วยเหลือ”
“ตอนนี้ชาวนาทั่วประเทศเขาไม่สามารถหาเงินไปชำระเจ้าหนี้ได้ เนื่องจากปัญหาราคาพืชตกต่ำ ปัญหาภัยแล้ง เจอน้ำท่วมแมลงลง ซึ่งมันเป็นมาแทบทุกปี เราก็หวังว่ากองทุนจะช่วยเหลือเราได้”
“ชาวนาที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ บางคนเป็นมา 10 ปี 20 ปี แต่มันก็ไม่มีความคืบหน้าเลย”
แม้ในปัจจุบันเกรียงศักดิ์สามารถปลดหนี้ได้แล้ว ทว่าในนามสมาชิกเครือข่ายก็ไม่สามารถละทิ้งปัญหาของเพื่อนพ้องชาวนาได้ ทำให้เขาต้องออกมาร่วมกับมวลชนตลอดห้วง 20 ปีที่ผ่านมา
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชาวนากำลังเผชิญสภาวะ “ต้นทุนผลิตสูงแต่หนี้สินพุ่งสวนทาง” เป็นต้นว่าเรื่องราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงกว่า 1,000 บาท ขณะที่ชาวนาเคยขายข้าวได้ 8,000-9,000 บาท ล่าสุดเพดานรับซื้ออยู่ที่ 6,000 บาท หากบวกลบค่าใช้จ่ายแล้ว พวกเขาสะสม ‘หนี้’ มากกว่า ‘ทุน’
“ที่ผ่านมาในระยะ 7-8 ปี ชาวนาเหมือนกับหายใจทิ้ง เสียดายเวลาที่สูญเสียไป เกษตรกรน่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้”
“รัฐเข้ามาส่งเสริมเรื่องกู้เงินจริง แต่ไม่ได้มาซัพพอร์ตเรื่องการขาย พอปล่อยให้มีพ่อค้าคนกลางเข้ามา เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต ชีวิตแย่ลงๆ ส่วนพ่อค้าคนกลางเขารวยขึ้นๆ เพราะเราไม่สามารถที่จะกำหนดราคาของเราเองได้”
ชายวัย 62 ปี จากลุ่มเจ้าพระยา เสนอว่าเบื้องต้นสิ่งที่รัฐต้องเข้ามาแก้ไขคือเรื่องต้นทุนจากราคาปุ๋ย ทว่าสิ่งที่เป็นอยู่คือภาครัฐไม่เคยเข้าไปควบคุมราคา รวมถึงเม็ดเงินจากผลผลิต ที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปกำหนดราคาให้สมน้ำสมเนื้อ
“อยากให้ลงพื้นที่มาดูตามความเป็นจริง ไม่ใช่รัฐดูแต่ข้อมูลข้าราชการ ซึ่งถ้าเป็นไปเป็นตามความเหมาะสม ชีวิตเกษตรกรมันจะดีขึ้น แต่ทุกวันนี้ทำไมเกษตรกรยังเป็นหนี้เป็นสิน ไปตรวจที่ ธกส.ได้เลย ถามว่ามีกี่รายที่กู้เงินมาแล้วมีรายได้เอาเงินไปใช้หนี้ มันน้อยมาก ส่วนใหญ่มีแต่หนี้ที่เพิ่มขึ้นๆ”
“บางคนเสียชีวิตไปลูกหลานก็ต้องมารับใช้หนี้สินต่อ เหมือนมรดกตกทอด”
จากอดีตถึงปัจจุบันคนในประเทศต่างพบเจอคำสรรเสริญเกษตรกรว่า ‘เป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศ’ แต่อนิจจาความจริงชีวิตชาวนา ไม่ได้สวยหรูเช่นคำเยินยอที่ว่า พวกเขากำลังปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก
“ที่เขากล่าวว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นกระดูกสันหลังที่ผุๆ”
เช่นเดียวกับ ‘สมาน ศาสตร์ศิลป์’ ชาวนาวัย 65 ปี จากพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อดีตหนุ่มเมืองหลวง ผู้ย้ายรกรากไปสร้างครอบครัวที่กรุงเก่า หนึ่งในเกษตรกรผู้ร่วมชะตาชาวนา ที่ต้องออกมาประท้วงครั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2546 สมานได้เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯ โดยหวังว่าจะเป็นทางออกในการแบ่งเบาภาระหนี้สิน หลังกู้ยืมสถาบันการเงินของรัฐ
“บางครั้งข้าวจู๋-หนูกิน-น้ำท่วม ทำให้พืชผลไม่ได้ตามต้องการ ทำให้ขาดทุนต่อมาก็ต้องเป็นหนี้ ธกส. พอไม่มีเขาก็ไม่ยอมหยุดหนี้ให้เรา มันก็เพิ่มไปเรื่อยๆจนไม่สามารถเอาเงินไปส่งเจ้าหนี้ได้ จึงตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกกองทุน แต่กองทุนก็ไม่เคยดำเนินการทำตามสัญญา”
“รัฐบาลทุกชุดเขาก็รับปากว่าจะช่วยเหลือชาวนา แต่ก็ไม่มีใครจริงใจ”
“ก็ไม่รู้ว่ามันจะเกี่ยวกับรัฐประหารหรือเปล่า ตั้งแต่สมัย กปปส. ตอนนั้นมันก็ยังกึ่งๆไปได้ วันนี้ชาวนาเลยต้องมาทวงถาม”
“ชาวนาไม่มีใครอยากมานอนกลางดินกินกลางทรายหรอก ถามว่ามันสบายไหม มันไม่สบายเลย หมดค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่น้อย บางคนถือไม้เท้าเดินมาสามขา เขามาเพราะอะไร เขามาเพราะตัวเขาเอง”
‘สมาน’ ชี้ว่านั่นคือแรงผลักที่คนในเครือข่ายต่างสมัครใจเข้าร่วม เพื่อออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เขายังหวังว่าทางภาครัฐจะมองเห็น ไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องออกมานอนข้างถนนอย่างที่เป็นอยู่
“เราคืออู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ส่งข้าวออกไปขายได้เท่าไหร่ไม่รู้ แต่ชาวนาต้องมาเจอราคาซื้อ ที่พ่อค้ากำหนด ส่วนราคาปุ๋ยมันก็ไม่เคยคิดลดลง”
“อยากให้รัฐบาลชุดไหนก็ได้ กำหนดได้ไหมเรื่องราคาปุ๋ย สมมติพ่อค้าคนกลางนำเข้ามา 7,000 บาท แต่เขามาขายชาวนา 12,000 บาท เป็นไปได้ไหมว่าเขาต้องมาฟังเสียงพวกเราที่เป็นผู้จ่าย เราสามารถต่อรองได้ไหมให้เหลือ 9,000 บาท อย่างน้อยก็ขอให้มันมีระบบควบคุม” อีกเสียงสะท้อนจากชาวนาอยุธยา
เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าเหตุใดภาครัฐสามารถเข้าไปควบคุมราคาสินค้าต่างๆได้ แต่สินค้าที่เกี่ยวกับต้นทุนเกษตรกรรัฐไม่สามารถเข้าไปกำหนด อย่างไรก็ดีส่วนตัวของ ‘สมาน’ เป็นหนึ่งในชาวนาที่ต้องเช่าที่ดินเพื่อทำกินจำนวน 22 ไร่ โดยเฉลี่ยต่อ 1 ไร่ จ่ายรายปีละ 1,000 บาทต่อไร่ และยังไม่นับรวมเงินทุนที่ต้องหมุนเวียนในการผลิตอย่างน้อย 6,000-7,000 บาทต่อไร่
“ปีที่แล้วซื้อปุ๋ยยี่ห้อหนึ่ง 800 บาท ล่าสุดปีนี้ขึ้นมาเกือบ 1,200 บาท แล้วที่เอามาขายผมก็ไม่รู้ด้วยว่า มันคือของเก่าที่กักตุนเพื่อขึ้นราคาไหม ถ้าคุณจงใจกักตุนคุณก็เหมือนฉ้อโกงประชาชน”
“คนแก่ที่เขามาอยู่ไม่มีใครอยากมาอยู่หรอก ผมก็ไม่อยากมาลำบาก”
“ชาวนาสมัยก่อนเขาสามารถทำนาซื้อนาได้ แต่สมัยนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นลูกผีลูกคนเลย เพราะราคามันขึ้นลงตลอด” สมาน ทิ้งท้ายความทุกข์
ด้านผู้นำการเคลื่อนไหวอย่าง ‘ชรินทร์ ดวงดารา’ ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ได้สรุปว่าโมเดลกองทุนฟื้นฟูถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย เมื่อภาครัฐยังไม่ปรับเปลี่ยนความคิด จึงเริ่มดำเนินการผิดแปลกหลักการ
“หลายเรื่องที่เขาทำไม่ถูก หลายเรื่องที่เขาทำไม่เป็น ซึ่งตัวชาวนาที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหว เพื่อบอกกล่าวข้อเรียกร้องและโจทย์ที่ภาครัฐต้องแก้ไข ยกตัวอย่างเช่นการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา กองทุนจะไม่ใช้วิธีคิดแบบธนาคาร โดยใช้วิธีให้รัฐบาลเข้าไปซื้อ และทรัพย์สินตกเป็นของรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรผ่อนชำระกับรัฐบาลโดยตรง”
ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ ยังขยายความว่าการช่วยพักชำระหนี้สินเกษตรกรตามแนวทางของกองทุนฟื้นฟูฯมันก็ไม่ได้มาแบบฟรีๆ เพราะโฉนดที่ดินยังเป็นของรัฐบาล ชาวนาจะได้กลับคืนต่อเมื่อทำสัญญาเช่าซื้อ ในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งมันจะช่วยพยุงลมหายใจของเกษตรกรให้รอดไปได้ จึงเป็นแรงผลักให้ชาวนาต้องออกมา บอกว่าแนวทางนี้มันจะทำให้ชีวิตพวกเขาไปต่อได้ และต้องยอมรับว่าหนี้สินของเกษตรกรทุกภาคส่วน มันเกิดจากโครงสร้างทางนโยบายของรัฐที่ผิดพลาด
ยกตัวอย่างเช่นการส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนการผลิต โดยไม่มีแผนรองรับเรื่องราคารับซื้อสินค้าเกษตรหรือราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาทิ ราคาปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ที่สูงขึ้น รัฐบาลไม่เคยประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม ปล่อยให้ราคาขึ้นลงตามใจชอบ จะเห็นว่าถ้าปีไหนข้าวแพงปุ๋ยก็จะมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ตรงนี้คือปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรเกิดหนี้สะสม
“ตัวธนาคารที่ปล่อยให้เกษตรกรกู้ยืมซึ่งเป็นของรัฐ แต่กลับปรากฎว่าเกษตรกรต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยมากกว่าภาคธุรกิจอื่น”
“ปัจจุบันสิ่งที่เป็นรูปธรรมสำหรับแนวทางของกองทุนฟื้นฟู เกิดขึ้นราว 30,000 ราย จากจำนวน 300,000 รายชื่อของผู้ขอใช้สิทธิ ซึ่งสิ่งที่ปรากฎนั้นมันสะท้อนว่า ช่วยชาวนาเขารอดจริงๆ”
หากเหลียวมองการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้าไปดูแลการปรับเพดานราคาปุ๋ยในกลุ่มนายทุน การตอบสนองของรัฐบาลแต่ละยุคมีผลตอบรับมากน้อยแค่ไหน ‘ชนินทร์’ ฉายภาพว่า “สมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีประชาธิปไตย สามารถพูดคุยได้และมองเห็นปัญหา แต่รัฐบาลปัจจุบัน ‘แปลก’ คุยไม่รู้เรื่อง สุดท้ายมันต้องรับฟังปัญหา
“ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้น 2 ปี ตอนยุคโควิดจะไม่ว่าอะไรเลย แต่มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับนโยบายที่มันเป็นแบบนี้ตลอด 80 ปี แล้วรัฐเองก็ไม่เคยแก้ปัญหาอะไร หากเป็นรัฐบาลที่มีประชาธิปไตยเราก็จะเห็นว่ามันทุเลาลงจริง แต่อย่าให้ผมเอ่ยเลยว่าเขาช่วยอะไรบ้าง เดี๋ยวเอ่ยไปมันก็มีปัญหาตามมา”
“ถามว่ามันแก้ได้ไหมมันแก้ได้ แต่ถามกลับว่าผู้มีอำนาจในประเทศนี้มันหลุดออกจากกลุ่มผลประโยชน์หรือยัง”
“ในรัฐบาลยุคไหนก็แล้วแต่ หากผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว มีหลักประกันว่าให้เกวียนละเท่าไหร่ อย่างในยุคหนึ่งเขามีรับจำนำให้ 15,000 บาท ชาวนาเขาก็มีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าคุณอยู่ในชนทบคุณจะเห็นเม็ดเงินมันสะพัดมาก เพราะเขารับซื้อทุกเม็ดได้มากเท่าไหร่ชาวนาก็มีกำลังใจที่จะสู้ต่อ ชาวบ้านเขาพูดกันนะว่าถ้าโครงการเหล่านี้ทำต่อเนื่องเกิน 10 ปี เขาหลุดพ้นการเป็นหนี้กันแน่นอน”
“มันเห็นชัดๆว่าข้าว 1 เกวียน 1,000 กิโลกรัม ถ้าไปสีแล้วจะได้ข้าว 600 กิโลกรัม เขาซื้อเราไป 6,000 บาท พอขายเป็นข้าวสารได้ 18,000 บาท ก็กลายเป็นคำถามว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นมันหายไปไหน แค่รัฐบาลเข้ามาดูแลตรงนี้ ทำอย่างไรก็ได้ คืนชาวนาส่วนหนึ่งได้ไหม
“ในฐานะที่นายทุนไม่ได้ออกมาตากแดดเลย แบ่งให้ชาวนา 6,000 บาท จากส่วนต่าง 12,000 บาท ส่วนที่เหลือนายทุนก็เอาไป คุณออกแรงน้อยกว่าเขาตั้งเยอะ ที่คุณได้เท่าชาวนามันก็ดูน่าเกลียดอยู่แล้ว เพราะคุณไม่ลงแรงเลย ถ้าชาวนาได้กลับมา 12,000 บาท ชาวนาเขารอดจริงๆนะ ยิ่งในยุคนี้นะ ถ้ามันได้จริงๆ คุณภาพชีวิต จิตใจชาวนามันจะดีขึ้นมาหมด”
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯนั้น ‘ชรินทร์’ ย้ำถึงทางออกว่า “ฟังเสียงชาวบ้านบ้าง มานั่งฟังอย่างจริงใจแล้วคิดตามเขา อย่าอวดรู้เลยว่าถ้าน้ำท่วมก็ให้ไปเลี้ยงปลา มันง่ายแบบนั้นมันก็ดีสิครับ เพราะปัญหามันซับซ้อนกว่านั้น มันสะสมมา70-80 ปี แล้วคุณพูดแบบนี้ มันไม่มีทางหรอก แค่การแก้ปัญหามันก็มองต่างกันแล้ว”
“ผู้บริหารประเทศต้องไม่ใช่แบบนี้ ต้องฟังถ้าไม่ฟังก็แก้ปัญหาไม่ได้ 8 ปีแล้ว มันควรพอได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาเราก็รู้แล้วว่ามันแก้ปัญหาได้ไหม”
“คงต้องประเมินกันวันต่อวัน หากรัฐยังไม่ตอบสนอง ก็คงต้องมีการยกระดับเคลื่อนไหว” ปลายเสียงอำลาของมวลชนในพื้นที่
อนึ่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ก่อตั้งหลังมีพระราชบัญญัติกองทุนเมื่อปี 2542 โดยมีวิสัยทัศน์ระบุว่า “เกษตรกรเป็นเจ้าของผลผลิต โดยทำการเกษตรแบบครบวงจร สามารถจัดการปัญหาหนี้สิน บนพื้นฐานความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร”
สำหรับอัปเดตข้อเรียกร้องเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ ล่าสุด ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจงความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป