ไม่พบผลการค้นหา
ชาวบ้านที่ออกมาทักท้วงโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบใน จ.นครศรีธรรมราช เจอนายอำเภอแจ้งความข้อหากีดขวางทางสาธารณะ

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2562 ร.ต.ท. อธิป พูลสวัสดิ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ออกหมายเรียกตัว นายวุฒิชัย แก้วลำหัด และนางนงลักษณ์ หรือมุ้ย ผาสุข ในข้อหา "ร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ในทางสาธารณะ ประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อันเป็นส่วนของทางสาธารณะ หรือที่ขึ้นลงของอากาศยาน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร" ระบุให้ทั้งคู่ไปที่สถานีตำรวจภูธรทุ่งสง ในวันที่ 17 ม.ค. 2562 พร้อมระบุชื่อนายจิรโรจน์ สำแดง นายอำเภอทุ่งสง เป็นผู้กล่าวหา

ขณะที่สำนักข่าวชายขอบ รายงานอ้างอิงนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบูรณาการ ระบุว่า สาเหตุของการออกหมายเรียกครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ดำเนินโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 ทำให้วันต่อมา ชาวบ้านเตรียมจะทำด่านบริเวณสะพาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านขึ้น-ลงไปกรีดยางพารา ที่สวนบนภูเขา เพื่อดูแลความปลอดภัย แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ และได้นำเอาอุปกรณ์ไปฝากที่บ้านชาวบ้านที่หัวสะพาน แต่กลางดึกคืนดังกล่าวได้มีคนเอาอุปกรณ์ไป และต่อมาช่วงเช้าวันที่ 20 ธ.ค. 2561 ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอำเภอเข้ามาพบชาวบ้านจำนวนหลายคน 

นายหาญณรงค์กล่าวกับสำนักข่าวชายขอบว่า “ที่ชาวบ้านทำด่าน ก็เพื่อแสดงออกว่าไม่รับมติ ครม. ดังกล่าว และเพื่อนับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ หากฝ่ายปกครองไม่เห็นด้วย ก็ควรตักเตือน ไม่ใช่มาออกหมายเรียกแบบนี้ ตามที่ระบุในมติ ครม. ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนให้แก่ประชาชน และการกระทำของชาวบ้านไม่ใช่การปิดทางจราจร" และการแจ้งความกับชาวบ้าน "ไม่ใช่สิ่งที่ราชการควรทำกับประชาชน โครงการเขื่อนวังหีบจะผลักดันอย่างไรก็ต้องมีการทำประชามติกับชุมชน ไม่ควรดำเนินการทางกฎหมายแบบนี้” 

ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวในทำนองคัดค้านการฟ้องร้องประชาชนที่ทักท้วงโครงการเขื่อนวังหีบฯ ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฟซบุ๊ก ส่งใจไปป่าคลองวังหีบ ได้เผยแพร่ข้อมูลการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนวังหีบ ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเสนอให้นำสติ๊กเกอร์หยุดเขื่อนวังหีบไปกระจายตามที่ต่างๆ เพื่อเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเสนอให้ปั่นจักรยานนำสติกเกอร์ไปแจกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

https://scontent-sin6-1.xx.fbcdn.net/v/t1.0-9/49948405_2234564636589031_7519981393011539968_n.jpg?_nc_cat=106&_nc_eui2=AeFijzmrZzVCWVfUe-ICNvcxzzsujmt52bDhWXY5pJi9IJN0g4_dSI3AEJ208MW-gyB-xSn7e099kZNK0xelnrfWkdbulMIoMqxpmmU2AGnHzA&_nc_ht=scontent-sin6-1.xx&oh=fbe57ed135868ef4065cbeca09c65926&oe=5CC99950

ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการวังหีบฯ โดยมีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 2,377.644 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำวังหีบประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ด้านทิศใต้ รวมถึงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง โครงการจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนเพื่อการชลประทาน จำนวน 13,014 ไร่ แหล่งแพร่และขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด บรรเทาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง 

กรมชลประทานจะใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ รวมถึงพื้นที่อ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 828 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าปลายคลองวังหีบทั้งหมด โดยมีพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำประมาณ 118 ไร่ ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ซึ่งต้องขออนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2528 และ 12 ธ.ค. 2532 กรณีการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) สามารถเข้าใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการวังหีบฯ ต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุด้วยว่า ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบแล้วตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2546


เวทีประชุมกับชาวบ้าน 'มัดมือชก'

ก่อนจะมีการออกหมายเรียกตัวชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนวังหีบ ได้มีแถลงการณ์จาก กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบ ซึ่งระบุว่าเครือข่ายชาวบ้านไม่ยอมรับการประชุม สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การก่อสร้างโครงการวังหีบฯ ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ภาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า การประชุมพูดคุยเป็นการชี้แจงเรื่องค่าเวนคืนและค่าตอบแทน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ต้องการ และไม่มีการรับฟังข้อเสนอของชาวบ้าน แทบไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดแสดงความคิดเห็น จึงมองว่ากระบวนการจัดเวทีดังกล่าวไม่ได้สร้างความเข้าใจ และนำไปสู่ความขัดแย้ง ชาวบ้านจึงไม่เข้าร่วมประชุม และประกาศไม่ยอมรับการประชุมที่มัดมือชก

https://scontent-kut2-2.xx.fbcdn.net/v/t1.0-9/49398573_759693001059782_8611113500938338304_n.jpg?_nc_cat=111&_nc_eui2=AeG0hrnf5siDKIabcEXB_aS1gPYxGcqhTDxOf2F0abvMK2ue4hF2E32EEKgxwD3302XcaBCVVT9cQi5yCnSXoeqyEU6awWH4lvVd6lvmMDZ9DA&_nc_ht=scontent-kut2-2.xx&oh=f67592fc5443347e6230c93d61e3fd8c&oe=5D0152F4

หมายเหตุ: ภาพประกอบเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้เมื่อปี 2560