องค์การแรงงานระหว่างประเทศประเมินว่า ชั่วโมงการทำงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จะเทียบเท่ากับการสูญเสียตำแหน่งงานที่ทำงานเต็มเวลา 305 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ไอแอลโอได้คาดการณ์ว่าการลดลงของชั่วโมงทำงานในไตรมาส 2 เท่ากับตำแหน่งงานเต็มเวลาที่หายไป 195 ล้านอัตรา
ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือแรงงานที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งมักจะมีสัญญาจ้างงานระยะสั้นๆ หรือทำอาชีพอิสระ โดยรายงานนี้ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบเกือบ 1,600 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรแรงงานทั่วโลก 3,300 ล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างหนักในการทำงานหาเลี้ยงชีพจากมาตรการล็อกดาวน์ หรือการที่พวกเขาทำงานอยู่ในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด มีการประเมินว่าผลจากช่วงเดือนแรกของวิกฤตทำให้รายได้ของแรงงานนอกระบบทั่วโลกลดลงร้อยละ 60 โดยในแอฟริกาและอเมริกาลดลงร้อยละ 81 ใน ในเอเชีย-แปซิฟิกลดลงร้อยละ 21.6 ส่วนในยุโรปและเอเชียกลางลดลงร้อยละ 70 และเมื่อไม่มีแหล่งรายได้อื่นที่เป็นทางเลือกก็หมายความแรงงานเหล่านี้และครอบครัวของพวกเขา จะไม่มีช่องทางในการเอาชีวิตรอดได้
รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศยังระบุว่า ทั่วโลกมีบริษัทกว่า 436 ล้านแห่ง เสี่ยงเผชิญการหยุดชะงักอย่างรุนแรง โดยบริษัทหรือองค์กรธุรกิจเหล่านี้อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งรวมถึงในภาคค้าปลีกและส่ง 232 ล้านราย ธุรกิจในภาคการผลิต 111 ล้านราย ธุรกิจบริหารที่พักและอาหาร 51 ล้านราย ไปจนถึงบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ 42 ล้านราย และกิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ
'กาย ไรเดอร์' ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศเตือนว่า วิกฤตนี้จะมีผลกระทบเรื่องความยากจนอย่างมากต่อแรงงานนอกระบบ สำหรับแรงงานหลายล้านคนแล้ว การไม่มีรายได้หมายถึงไม่มีอาหาร ไม่มีความมั่นคงและไม่มีอนาคต ธุรกิจนับล้านแห่งก็แทบจะไปต่อไม่ไหว ในขณะที่การระบาดใหญ่และวิกฤตงานยังดำเนินต่อไป จึงยิ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้นในการปกป้องคนกลุ่มเสี่ยงที่สุด โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ขยายโครงการช่วยเหลือให้มีมาตรการที่เล็งเป้าหมายและยืดหยุ่นในการสนับสนุนแรงงานและธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ
อ้างอิง Financial Times / The Guardian / ILO