ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้านตั้งญัตติด่วนถกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ‘ชลน่าน-ปิยบุตร’ ลั่นไม่ต้องการให้ฝ่ายตุลาการก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐบาลยืนยันต้องเร่งพิจารณางบเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและบริหารประเทศ อย่าคิดเยอะ

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ตั้งญัตติด่วนถามประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเนื้อหาว่า หลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งมาที่สภาผู้แทนราษฎร กรณีการเสียบบัตรแทนกัน ที่ ส.ส. ได้เข้าชื่อยื่นให้ศาลวินิจฉัยความชอบของการตราร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งตนในฐานะผู้แทนราษฎรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติเห็นว่า 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องมีการถ่วงดุล ดังนั้นตนจึงไม่เห็นด้วยที่ต้องปฏิบัติตามการกำหนดบังคับของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ลงมติวาระ 2-3 ใหม่ อย่างไรก็ตาม ตนวิจารณ์คำสั่งศาลโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล 

ตนวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.เห็นว่าการเสียบบัตรแทนกันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส. ทำหน้าที่โดยอิสระ และสุจริต 2.ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ตกไปทั้งฉบับ แต่ตกไปแค่บางส่วน ทั้งนี้ฝ่ายค้านยกเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2556-2557 ที่การเสียบบัตรแทนกันทำให้กฎหมายฉบับนั้นๆ ตกไปทั้งฉบับ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยกรณีนี้ว่ามีพฤติการที่ต่างกัน 3.ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 ออกคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินการให้ถูกต้อง

แต่ตนไม่เห็นด้วยว่าต้องทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง เนื่องจากตนเห็นว่าเป็นความเห็นส่วนตัว เนื่องจากตามมาตรา 148 วรรค 3 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าหากศาลเห็นว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติไม่ชอบ ร่างกฎหมายก็ให่้ตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าเห็นว่ากระบวนการตรากฎหมายชอบด้วยกฎหมายแล้วก็สามารถดำเนินการต่อได้ แต่กรณีนี้เป็นการพิจารณาแยกส่วน แล้วการที่ศาลรัฐธรรมนูญออกกำหนดบังคับมาบังคับให้สภาผู้แทนราษฎรกระทำตามที่ศาลกำหนด แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่คู่ความที่กระทำผิด แต่คนทำผิดคือ ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกัน

ตนจึงเห็นว่าศาลทำหน้าที่เกินขอบข่ายและนอกเหนือบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ควรเป็นการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วจึงให้สภาผู้แทนราษฎร มาบังคับให้ ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกันรับผิดชอบอีกที ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน เพราะสภาเองก็ไม่เคยล่วงละเมิดอำนาจหรือก้าวก่ายหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ เช่น กรรมาธิการชุดต่างๆ ก็ไม่เคยเรียกผู้พิพากษา ตุลาการมาชี้แจง หรือถ้าเรื่องไหนอยู่ในศาลก็ไม่นำเรื่องนั้นมาพิจารณา ซึ่งสภาเองก็ไม่เคยทำการก้าวล่วง 

นพ.ชลน่า กล่าวต่อว่า ตนมีความเห็นว่า ส.ส. ควรมีความเห็นร่วมกันว่าไม่ควรปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และหากจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. รายจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ก็ขอให้มีการพิจารณา 3 วาระรวดโดยตั้งกรรมาธิการเต็มสภา แต่หากวันนี้ที่ประชุมสภาไม่เห็นด้วยกับความเห็นของตนและฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านก็จะไม่ลงมติด้วย แต่จะมาลงชื่อเข้าประชุมเพื่อให้เปิดการประชุมได้ แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาเพราะคนที่สงวนคำแปรญัตติและสงวนความเห็นไว้ หากมาลงมติก็จะต้องอภิราย 

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตอบเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 ทั้งที่เกินเวลาไปแล้ว ตนจึงเสนอให้เอาร่าง พ.ร.บ. ที่ ครม. เสนอมาให้วุฒิสภาไปเลยเพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้ตนก็อยากให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการสั่งการให้สภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติตามหรือไม่ และควรให้อำนาจกับประธานสภาแจ้งกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ พร้อมทั้งส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับไปด้วย

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายสนับสนุนญัตติด่วน ว่า สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจที่จะเอาคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติก็มีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจผูกพันทุกองค์กร แต่ต้องกำหนดกรอบหรือเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ ไม่เช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบทั้งกระบวนการตราพระราชบัญญัติและกระบวนการตรากฎหมาย

แต่ที่ ส.ส. ยื่นเรื่องให้พิจารณาเป็นการยื่นให้วินิจฉัยกระบวนการตรากฎหมาย และเมื่อเห็นว่าการเสียบบัตรแทนกันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. นี้ก็จำเป็นต้องตกทั้งฉบับ แต่กลับให้เหตุผลว่าเป็นงบประมาณที่ต้องการความเร่งด่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ให้ตกไปซึ่งมันลักลั่น ตนจึงเห็นว่าทางแก้ศาลรัฐธรรมนูญควรหักคะแนนที่ผิดออก และยังไม่กระทบต่อมติ คือการวินิจฉัยโดยสงวนการตีความ และแถมแนวทางปฏิบัติไปให้ด้วย

พรรคร่วมรบ.ประสานเสียง ขอฝ่ายค้านก้าวข้าม

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตามกฎหมายหากยื่นเรื่องนี้ให้ศาลพิจารณาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล แต่ตนไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นให้ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลพิจารณา เพราะเป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติที่ตัดสินใจกันเองได้ผ่านคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร แต่ทั้งนี้เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วก็ต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างกับกบเลือกนาย ดังนั้นหากเกิดกรณีเช่นนี้ครั้งหน้าตนเห็นว่าประธานสาภสามารถใช้ดุลยพินิจได้เลย

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงว่าที่ตนทำหนังสือส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าการตราร่าง พ.ร.บ. นี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 หรือไม่ และถ้าขัดกฎหมายจะตกไปทั้งฉบับหรือบางมาตราที่มีการเสียบบัตรแทนกัน และหากไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็มีหนังสือกลับมาว่าการตราพระราชบัญญัติไม่ชอบในวาระที่ 2 และ 3 จึงเสนอให้ลงมติในสองวาระนี้ใหม่ ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ศาลมีความชอบธรรมตามมาตรา 74 จึงควรปฏิบัติตามให้แล้วเสร็จ ไม่ควรคิดอะไรให้สลับซับซ้อน เพราะเมื่อยื่นไปให้ศาลวินิจฉัยไปแล้ว ก็แสดงว่าพร้อมทำตามคำวินิจฉัย ไม่ใช่ชอบก็ปฏิบัติตาม ไม่ชอบก็ไม่ปฏิบัติตาม

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เสนอว่านอกจากจะพิจารณาแนวทางปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญแล้วยังควรพิจารณาถึงการกระทำผิดของ ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกันด้วย ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานการประชุม กล่าวยืนยันว่า ตนและประธานสภา และรองประธานสภาคนที่หนึ่ง ทำงานด้วยความเป็นกลาง ไม่เคยเอนเอียงไปทางพรรคพวกของตน แม้จะสังกัดพรรคภูมิใจไทย

ด้านนายวีรกร คำประกอบ ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า งบประมาณแผ่นดินไม่ได้ใช้มาตั้ง 1 ปี 4 เดือน ตอนนี้เศรษฐกิจแย่ ไม่มีงบประมาณอัดฉีด อีกทั้งยังมีปัญหาภัยแล้ง และไวรัสโคโรนา ตอนนี้การใช้งบประมาณจึงจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งเมื่อมอบให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ก็ควรจะทำตาม เรื่องศักดิ์ศรีของสภาก็สำคัญ แต่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องนี้แล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีการให้อำนาจกับศาลและองค์กรอิสระ ดังนั้นทุกหมวดในรัฐธรรมนูญก็มีศักดิ์ศรีเท่ากัน จึงต้องเคารพรัฐธรรมนูญ มาตรา 261 ให้อำนาจศาลลง