ไม่พบผลการค้นหา
คลี่หน้าตากาสิโนถูกกฎหมาย จากรายงานผลการศึกษา การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ

‘กาสิโน’ ถูกกฎหมาย กลายเป็นกระแสอีกครั้ง หลัง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจรฯ​ นำโดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์​ ได้สรุปรายงานผลการศึกษา การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ 

รายงานฉบับนี้ ได้ศึกษาผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคม รวมถึงคลี่ข้อกังวลในเรื่อง ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ผ่านกรณีศึกษาในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งมีประสบการณ์ดำเนินการมาแล้ว 

เนื่องจากไทยเป็น ‘เมืองพุทธ’ ทันทีที่กระแส ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง สังคมต่างก็แสดงความกังวลว่าจะกระทบระบบศีลธรรม วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ‘วอยซ์’​ ชวนทำความเข้าใจว่า ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ตามข้อเสนอของ กมธ.วิสามัญฯ จะมีหน้าตาคร่าวๆ อย่างไร และมีข้อเสนอแนะในการจัดการอย่างไร 

433518431_280602655085471_2700734748114059660_n.jpg
สถานบันเทิงครบวงจร ≠ กาสิโน

สถานบันเทิงครบวงจร ไม่ได้มีเพียงแค่ 'กาสิโนถูกกฎหมาย' เท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจอื่นมากมายร่วมด้วย ทั้ง โรงแรม 5 ดาว,  ห้างสรรพสินค้า, กาสิโน, สนามกีฬา, สวนสนุก, ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ, พื้นที่สําหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP, หอประชุมสําหรับการจัดงานแสดงต่างๆ ฯลฯ 

การศึกษาจากข้อมูลของสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ปี 2565 ทั่วโลกมีมูลค่าสถานบันเทิงครบวงจรประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าในปี 2571 จะเติบโตถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลจาก Statista พบว่า ประเทศที่มีรายได้สูงสุดจากกาสิโน ได้แก่ 

  1. มาเก๊า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  2. ลาสเวกัส 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  3. สิงคโปร์ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  4. เกาหลีใต้  9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  5. ฟิลิปปินส์ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  6. เวียดนาม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
ตั้งตุ๊กตา เดินหน้ากาสิโนไทย

สำหรับประเทศไทย หากมีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)  ซึ่งจะมีกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วยนั้น ข้อเสนอ กมธ.ฯ มีรายละเอียดดังนี้ 

มีเป้าหมาย > ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ หารายได้เข้ารัฐ  ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมาย

กลไกควบคุม  > ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อเป็นกลไกในการดําเนินการ  เช่น การให้ใบอนุญาต การตรวจสอบ ควบคุม และเยียวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม

  1. คณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถาน บันเทิงครบวงจร 
  2. คณะกรรมการบริหารสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (กธบ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

การประกอบธุรกิจ > ร่าง พ.ร.บ.กาสิโน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือกาสิโนถูกกฎหมาย ทั้งหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต ประเภทของใบอนุญาตจำนวนใบอนุญาต ระยะเวลาของใบอนุญาต การกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เงื่อนไขการเปลี่ยนเจ้าของใบอนุญาต บทกำหนดโทษ และการเพิกถอนใบอนุญาต โดยการประกอบธุรกิจ

คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจกาสิโนถูกกฎหมาย 

  • เป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย
  • มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
  • สถานบันเทิงครบวงจรต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล ผ่านการประมูลใบอนุญาต 
  • ใบอนุญาตอายุ 20 ปี ต่อได้คราวละไม่เกิน 5 ปี

ใคร ‘ห้าม’ เข้ากาสิโน

  • ผู้อายุน้อยกว่า 20 ปี 
  • บุคคลซึ่งถูกสํานักงาน กธบ.สั่งห้ามเข้ากาสิโน
  • บุคคลซึ่งถูกศาลสั่งห้ามเล่นการพนัน
  • คนไทยต้องลงทะเบียนและชําระค่าธรรมเนียม (ตามที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด)

พื้นที่เป้าหมายตั้งกาสิโนมีหลายทางเลือก

  • กทม. 
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เช่น EEC 
  • ในจังหวัดที่รัศมีไม่เกิน 100 กม.จากสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 

รายได้ต่อปี (คาดการณ์) 1.2 หมื่นล้านบาท / ลูกค้าขั้นต่ำ 4.8 ล้านคน  

วิธีเก็บภาษีกาสิโน 

ในรายงานของ กมธ.ฯ ยังได้เสนอแนวคิดในการจัดเก็บ ‘ภาษีกาสิโน’ 

  • รายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (Gross Gambling Revenue; GGR) คือ รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นที่วางเดิมพันในอัตรา 17% 
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรได้เสนอโมเดลการจัดเก็บ 3 ขั้น 
  • รายรับรวมจากการเล่นเกม 0-20 ล้านบาท อัตราภาษี 20% 
  • รายรับรวมจากการเล่นเกม มากกว่า 20-40 ล้านบาท อัตราภาษี 25% 
  • รายรับรวมจากการเล่นเกม 40 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 30%
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับการยกเว้น

สำหรับค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ รายงานของ กมธ. เสนอว่า เพื่อป้องกันผู้มีสัญชาติไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางเข้าใช้บริการ ควรมีการเก็บภาษีการเข้าใช้บริการในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ของคนไทย โดยตัวอย่างอัตราการเก็บในประเทศอื่นๆ เช่น

  • สิงคโปร์เก็บ 4,500 บาทต่อวัน
  • ญี่ปุ่นเก็บ 1,300 บาทต่อวัน
‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ในต่างประเทศ
  • สิงคโปร์ 

> สถานบันเทิงครบวงจรในสิงคโปร์​ ดึงดูดลงทุนจากต่างประเทศกว่า 300,000 ล้านบาท การจ้างงานที่มีรายได้สูงมากกว่า 20,000 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยวกว่า 47% เทียบกับก่อนการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อ GDP คิดเป็นมูลค่ากว่า 240,000 ล้านบาท 

> ธุรกิจกาสิโน อยู่ภายใต้ควบคุมของกฎหมาย และต้องเสียภาษี (Casino Tax) 12% ของรายรับแต่ละเดือน (ในส่วนผู้เล่นพรีเมี่ยม) และเสียภาษี 22% ของรายรับในแต่ละเดือน (สำหรับผู้เล่นอื่นธรรมดา)

> ออกใบอนุญาตธุรกิจกาสิโนได้ไม่เกิน 2 ใบอนุญาต (1 ใบอนุญาต ต่อ ผู้ประกอบการ 1 ราย) โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมยื่นคำขออนุญาต 1,100 ดอลลาร์สิงคโปร์ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี กรณีมีกาสิโน1 แห่ง ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 28.8 ล้านดอลลาร์

> ผู้เล่นอายุ 21 ปี ขึ้นไป คนในประเทศจ่ายค่าเข้า 3,900 บาท/วัน และมีการตั้งสภาแก้ไขปัญหาการติดพนันแห่งชาติ 

> กรณีคนในครอบครัวติดการพนัน สมาชิกครอบครัวสามารถส่งคำขอไปที่หน่วยงาน เพื่อจำกัดการเข้าใช้บริการได้ หรือผู้เล่นสามารถยื่นคำขอจำกัดจำนวนการเข้าใช้โดยสมัครใจ

> จัดตั้งสภาแก้ไขปัญหาการติดพนันแห่งชาติ  มีอำนาจในการตั้งคณะกรรมการพิจารณากรณีสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดการพนัน มีคำขอให้ออกคำสั่งห้ามหรือจำกัดบุคคลมิให้ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน  ขณะเดียวกัน ผู้เล่นพนันเองก็สามารถยื่นคำขอจำกัดจำนวนการเข้าใช้กาสิโนโดยสมัครใจ

> หลังเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ปัญหาการพนันโดยรวมในประเทศสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราปัญหาการเสพติดการพนันและการพนันผิดกฎหมายได้ลดลงจาก ร้อยละ 2.1 ในปี 2548 เป็น ร้อยละ 1.4 ในปี 2554 และลดลงเหลือประมาณ ร้อยละ 0.2 ในปี 2563 

> รัฐบาลสิงคโปร์ มีนโยบายส่งเสริม ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดย สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยว  15 ล้านคน กว่า 30%  ได้ไปเยี่ยมชมสถานบันเทิงแบบครบวงจร มูลค่าการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ญี่ปุ่น 

> ออกกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานสำหรับสถานบันเทิงครบวงจร และมีการควบคุมและกำกับดูแลในรูปแบบคณะกรรมการควบคุมการประกอบการกาสิโน และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เรียกว่า Casino Regulatory Commission 

> ผู้ขอใบอนุญาตทำธุรกิจกาสิโน ต้องได้รับการรับรองให้ประกอบกิจการ Specified Integrated Resort (SIR) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวเท่านั้น จึงจะขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกาสิโนได้

> กำหนดให้คนญี่ปุ่นและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถเข้ากาสิโนได้เพียง 3 ครั้งต่อ 28 วัน เสียค่าเข้า 1,500 บาท ต่อวัน (ชาวต่างชาติไม่เสียค่าเข้า) และคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ จะต้องใช้เงินสดในการซื้อชิปเท่านั้น  ส่วนคนต่างชาติที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศ สามารถใช้บัตรเครดิตซื้อชิปได้

> สำหรับการโฆษณา ทำได้แค่อาคารผู้โดยสารในสนามบิน และบริเวณพื้นที่สถานบันเทิงครบวงจรเท่านั้น ห้ามโฆษณาเชิญชวนบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้ากาสิโน

> สถานบันเทิงครบวงจร ต้องต่ออายุสัญญาทุก 4 ปี ส่วนกาสิโนต้องต่อสัญญาทุกๆ 3 ปี 

> กำหนดให้มีกาสิโนได้แค่ 3 แห่ง และจะพิจารณาเกณฑ์ใหม่ภายอีก 7 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นยังมีกาสิโนเพียง 1 แห่ง เท่านั้น คือที่ โอซากา

> กำหนดอัตราส่วนพื้นที่กาสิโนต่อพื้นที่กิจการอื่น ๆ ในสถานบันเทิงครบวงจร  ไม่เกิน 3%

> ปี 2029 สถานบันเทิงครบวงจรในโอซากะจะเปิดทำการ โดยรัฐบาลคาดว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 520 พันล้านเยน กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างอาชีพให้กับประชาชนกว่า 1.5 หมื่นตำแหน่ง และคาดว่าจะสร้ารายได้กว่า  1 ล้านล้านเยนต่อปี 

> ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนก่อสร้างสถานบันเทิงครบวงจร 3 แห่ง คือ เมืองโอซากะ เมืองนางาซากิ และเมืองฟุกุโอกะ

สหรัฐอเมริกา 

 > สถานบันเทิงครบวงจร สร้างงานกว่า 1.8 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 3.29 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างรายได้ให้แรงงาน 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังเก็บภาษีให้รัฐบาลกลางสหรัฐและท้องถิ่นได้รวม 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 

> ผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 9 ใน 10 หรือ 88% มองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สำหรับการมีสถานบันเทิงครบวงจร โดยผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 102 ล้านคน (41% ของประชากร) เข้ากาสิโนเพื่อเข้าไปเล่นพนันหรือเพื่อรับความบันเทิงด้านอื่น และชาวอเมริกัน 71% มองว่ากาสิโนหรืออุตสาหกรรมการพนันสร้างผลบวกให้แก่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ

> ตัวอย่างลาสเวกัส รัฐเนวาดา เก็บภาษีกาสิโนที่ 10%  ของ GGR (รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นที่วางเดิมพัน) 

ข้อสังเกต กมธ. 

ผลกระทบ ‘เชิงบวก’ 

  • อัตราการว่างงานของคนในพื้นที่ลดน้อยลง
  • ประชาชนพึ่งพนันที่ผิดกฎหมายน้อยลง
  • เศรษฐกิจภายในประเทศมีการเติบโต กระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบไม่ให้รั่วไหลออก 
  • รัฐสามารถสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากธุรกิจสถานบันเทิงแบบครบวงจรและกาสิโนหลายแสนล้านบาทต่อปี
  • รัฐมีรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวของประชาชน
  • ลดภาระเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามการพนันเถื่อน การช่วยลดปัญหาผู้มีอิทธิพล 
  • กลุ่มเด็ก และเยาวชน ในครอบครัวยากจนอาจมีรายได้จากการจ้างงานชั่วคราว (Part-time) เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพให้กลุ่มผู้สูงอายุหรือคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
  • เกิดการพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมทักษะเฉพาะด้านในสถานศึกษา เพื่อรองรับตลาดแรงงานฝีมือที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจในสถานบันเทิงครบวงจร

ผลกระทบ ‘เชิงลบ’

  • เสพติดการพนันของบุคคลอาจเพิ่ม
  • ก่อปัญหาด้านอาชญากรรม ครอบครัว ยาเสพติด และหนี้สินตามมา 
  • อาจเป็นช่องดึงดูดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าเมืองได้ง่าย
  • หากรัฐไม่มีมาตรการควบคุม อาจเป็นแหล่งฟอกเงินของธุรกิจที่ผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด การค้าโสเภณี ข้ามชาติ และการค้าสินค้าหนีภาษี ฯลฯ 
  • สร้างนิสัยเกียจคร้านให้กับผู้เล่น ไม่สนใจประกอบอาชีพสุจริต คนที่เล่นได้ ทำให้มีเงินใช้สอยฟุ่มเฟือย เป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดในหมู่ประชาชน
  • อาจกลายเป็นศูนย์รวมอบายมุขและแหล่งอาชญากรรม โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชน
  • สถานบันเทิงแบบครบวงจรและกาสิโน ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ จึงอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น การตัดไม้ ทำลายป่า มลภาวะจากฝุ่นละออง รวมถึงมลพิษตามแหล่งน้ำจากสิ่งปฏิกูลมูลฝอยและสารเคมี ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคและบริโภค
  • อาจมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือนจากการแสดง ดนตรีสด การเปิดเพลงเสียงดัง ของสถานบันเทิง การรวมกลุ่มมั่วสุม การดื่มสุรา เสียงจากการก่อสร้าง


ที่มา: รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ , คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร.2567