ไม่พบผลการค้นหา
สทนช. เผยจีนเห็นพ้องแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำครั้งแรกในรอบ 10 ปี เพื่อสร้างกลไกป้องกันและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จากสถานการณ์น้ำท่วม - น้ำแล้งฉับพลัน

เว็บไซต์สำนักข่าวไทยรายงาน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยว่า จากผลการประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง หรือ JCCCN ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 26 – 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายจีนเห็นพ้องแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ โดยจะประสานกับหน่วยงานภายใน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรา 21 ของความตกลง JCCCN เพื่อให้การเดินเรือมีความปลอดภัยและสะดวกโดยเฉพาะในฤดูแล้ง และกำหนดให้ขยายความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลการไหลของน้ำตามที่ฝ่ายไทยร้องขอ 

โดย สทนช.พิจารณาแล้วว่าประเด็นดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการบริหารจัดการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น จึงพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการผลักดันการดำเนินงานผ่านกลไกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) สาขาทรัพยากรน้ำร่วมกับ JCCCN เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำกับจีนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดย นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนและประเทศสมาชิก JCCCN ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนภายใต้พันธกรณีของ JCCCN ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกเดียวที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสามารถผลักดันการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้นำเสนอและพยายามผลักดันประเด็นด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำกับจีนร่วมกับกรมเจ้าท่าอย่างต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกันปัจจุบันยังมีโครงการกลไกความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและนำเสนอกลไกความร่วมมือที่เหมาะสมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) และอยู่ระหว่างดำเนินการ โดย สทนช.มีบทบาทในฐานะหน่วยงานกลางในการดำเนินโครงการฯ เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนท่าทีเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง – ล้านช้างโดยเฉพาะฤดูแล้ง จากผลการประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งแรกของจีนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีความพยายามผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (MRC) มาโดยตลอดแต่ยังไม่ครอบคลุมและเกิดประสิทธิผลมากนัก แต่การหารือร่วมกันครั้งนี้เป็นจะเป็นการเปลี่ยนกลไกการให้ข้อมูลด้านน้ำอย่างมีนัยสำคัญ จึงนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่ฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการและติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง – ล้านช้าง รวมถึงการป้องกันบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จากสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและระดับน้ำอย่างฉับพลันอีกด้วย