ไม่พบผลการค้นหา
​"ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ชี้ทหารคุมการเมือง ทำการตรวจสอบกองทัพล้มเหลว "ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ" ห่วงกองทัพไม่พร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ส่วน "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" เสนอเปิดทางปฏิรูปกองทัพ

กลุ่มพลังมดร่วมกับคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ จัดเสวนา "เส้นทางการปฏิรูปกองทัพ" ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ระบบอำนาจในวงราชการไทยอยู่กันเป็นเครือข่าย หากใครไม่เข้าพวกจะถูกจำกัดบทบาทหรือผลักออกจากองค์กร โดยโครงสร้างอำนาจ ประกอบด้วย "งบประมาณ-อำนาจตามกฎหมาย และกำลังคน" ดังนั้น การร้องเรียนตรวจสอบภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบนี้ อาจกลายเป็นช่องทางสังเวยข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ร้องเรียน และบางครั้งใช้กลไกร้องเรียนจัดการคนนอกเครือข่ายออกจากองค์กร แต่ผู้ที่ร้องเรียนล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ขณะที่ผู้ถูกร้องเรียนจะมีกลไกคุ้มครอง

นายวิโรจน์ เสนอการแก้ปัญหาด้วยกลไกสำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะเพื่อความโปร่งใส และกลไกคุ้มครองพยานที่ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อทำให้คนที่มีความซื่อสัตย์และถูกต้องจริงๆ กล้าที่จะเปิดเผยถ้ามีมูล ไม่ต้องบอกให้สังคมปกป้องคนดี หรือการติดแฮชแท็ก #ปกป้องหมู่อาร์ม ควรเป็นกระบวนการเสริม แต่กระบวนการหลักคือ ตามกฎหมายและหน่วยงานที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและป้องคนที่ออกมาธำรงไว้ ซึ่งความสุจริตทั้งในกองทัพและระบบราชการรวมถึงในองค์กรเอกชน

บทบาททหารการเมือง ผ่านรูปแบบรัฐประหาร

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเตอร์ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า การปฏิรูปกองทัพทำได้ยาก ภายใต้บทบาทและแนวคิดรวมถึงวัฒนธรรมของกองทัพไทย ที่ทหารพยายามและเข้ามามีบทบาทและอำนาจทางการเมืองตลอดมาผ่านการรัฐประหาร โดยปัจจุบันมีทหารที่เกษียณอายุและยังอยู่ในราชการ ในเครือข่ายคณะรัฐประหารเข้ามาเป็น ส.ว. 140 กว่าคน หรือเกินครึ่งหนึ่งของวุฒิสภา สะท้อนถึงการให้ทหารเข้ามามีบทบาทในกระบวนการออกกฎหมายด้วย การตรวจสอบฝ่ายทหารจึงไม่เป็นผล โดยเฉพาะการใช้ยุทธการทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ iLaw พบว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและต่อเนื่องมายาวนาน 

ส่วนกลไกลร้องเรียนและคุ้มครองพยานนั้น แม้กฎหมาย ป.ป.ช.ปี 2561 มีเนื้อหาคุ้มครองผู้ร้องเรียนการทุจริตครอบคลุมความปลอดภัยและอาชีพการงาน แต่มองว่า ข้าราชการจะไม่ค่อยชอบใช้ช่องทางนี้ และสิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ "หมู่อาร์ม" จากกรมสรรพาวุธทหารบก ที่ร้องเรียนเรื่องทุจริจและขอคุ้มครองจาก ป.ป.ช. กลายเป็นคนแรกที่ทดลองใช้กลไกนี้ แต่ก็เห็นแล้วว่า ยังนี้ไม่ได้ผล

4 แนวทาง กองทัพในโลกยุคใหม่

นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ระบุว่าทหารในประเทศภูมิภาคเอเชีย จะมีบทบาททางการเมืองและความมั่นคงภายในอย่างมาก ต่างจากประเทศตะวันตกซึ่งจะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า มีหน้าที่เพื่อสู้รบป้องกัยภัยคุกคามจากภายนอกเป็นหลัก และปัจจุบันภัยคุกคามภายนอกที่ไทย จะถูกโจมตีทางทหารถือว่ามีน้อยมากหรือแถบไม่มีเลย แต่ต้องรับมือภัยคุกคามแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค เศรษฐกิจและด้านอื่น 

สำหรับกองทัพไทยมีคำถามว่า พร้อมขนาดไหนที่จะรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และหากภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยๆ จะวางบทบาทกองทัพอย่างไรให้เหมาะสม นายฟูอาดี้ เสนอผู้เกี่ยวข้อง 4 ข้อประกอบด้วย 

1) ต้องให้ความสำคัญกับภัยคุกคามแบบใหม่มากขึ้น ซึ่งทหารมีหน้าที่จำกัดเพราะไม่ใช่หน้าที่หลักของกองทัพ ซึ่งทหารไม่ควรไปทำหน้าที่ของหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุขหรือด้านเศรษฐกิจ

2) การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารต้องตอบโจทย์ภัยคุกคาม ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งกองทัพต้องตอบให้ได้ว่ายุทโธปกรณ์ทางการทหารที่จะซื้อมาตอบโจทย์การแก้ปัญหาภัยพิบัติให้กับประชาชนได้อย่างไร

3) เพิ่มงบประมาณในส่วนของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ เพราะเมื่อมีสถานการณ์ภัยพิบัติกองทัพเรือและกองทัพอากาศ จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้มากกว่ากองทัพบก

4) การนิยามความหมายของ "การรับใช้ชาติ" ให้กว้างกว่าการเป็นทหารถือปืนเท่านั้น เนื่องจากภัยคุกคามเปลี่ยนไป ดังนั้นหน้าที่การรับใช้ชาติจึงจะต้องสอดคล้องและคลอบคลุมการทำหน้าที่และบทบาทที่หลากหลาย

อ่านเพิ่มเติม