เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ เครือมติชนจัดเวทีดีเบท "ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง" ภายใต้แคมเปญ "มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศ" โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย อาทิ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย , จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ , สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า , วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา , สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรคพลังประชารัฐ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย , พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และนี่น่าจะเป็นเวทีดีเบทแรก ก่อนเข้าโค้งสุดท้าย ของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญผ่านการเลือกตั้ง ปี 2566
ไฮไลท์สำคัญ ชนิด “หมัดเด็ด” ของแต่ละพรรค อยู่ในช่วงท้าย มีการประชัน “จุดแข็ง” ของแต่ละพรรคการเมือง มีเวลาแค่ 5 นาที พูดไม่หมดแต่ครบเวลาจะถูกตัดเสียง
‘วอยซ์’ ขอรวบตึงมาให้อ่าน โดยเลือก 4 พรรคการเมืองสำคัญ คือ เพื่อไทย ก้าวไกล ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ
ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยในการดีเบต คือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช (หมอมิ้ง) ประธานนโยบายและประธานทีมเศรษฐกิจของพรรค อดีตคนเดือนตุลา ออกมาเป็นแพทย์ชนบท และก้าวสู่วงการธุรกิจ และผันชีวิตสู่นักการเมือง ซึ่งถือว่าเป็น ‘คีย์เมกเกอร์’ อีกคนของเพื่อไทย ต่อจากนี้จะเรียกเขาว่า ‘หมอมิ้ง’
หมอมิ้งเริ่มจากการเกริ่นว่า “สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ไม่ใช่เพียงแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ผมกำลังเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์และยุทธศาสตร์ในการ ทวงคืนประชาธิปไตย ให้กับประชาชนด้วยสันติวิธี โดยการเสนอ ‘บันได 3 ขั้น’ และไขคำตอบว่าทำไมเพื่อไทยต้องแลนด์สไลด์”
1 - ที่ต้องแลนด์สไลด์ เพราะต้องมีพรรคใหญ่ที่สามารถชนะเลือกตั้งแล้วยืนอย่างมั่นคงในการเป็นรัฐบาล เป้าหมายแรกที่จะนำเสนอคือ การจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่า 250 ที่นั่ง เพื่อสกัดกั้นการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่สนับสนุนโดย ส.ว. เราจึงต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และสามารถเอาชนะเสียง 250 ของวุฒิสภา
“การเรียกร้องสิ่งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการทวงคืนประชาธิปไตย” หมอมิ้ง กล่าว
2 - การชูธงเพื่อระดมพลให้ฝ่ายประชาธิปไตยและได้รัฐบาลประชาธิปไตยมา เราต้องกางธง เพื่อให้ได้รายได้ของประชาชนและความเป็นอยู่ในชีวิตที่ดีขึ้น โดยพรรคได้นำเสนอนโยบายต่างๆ ที่ครอบคลุมในทุกส่วนของสังคม ตั้งแต่รายได้ขั้นต่ำระยะสั้น การหารายได้ในระยะยาว ของพี่น้องเกษตรกร ประชาชนทั้งประเทศ SMEs อุตสาหกรรม และภาคอื่นๆ จนครบ โดยเราจะเอาเงินรายได้ที่เกิดจากการใช้จ่ายและหมุนเวียนจนมีภาษีเพิ่มขึ้น มาดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีอย่างไม่สิ้นสุด
“เราไม่นิยมการเอาปลาสำเร็จรูปและให้กินเพียงมื้อเดียว แต่เราจะสอนวิธีทำมาหากิน เอาวิธีการตกปลาให้ประชาชนทุกกลุ่มเพื่อให้ยืนอยู่ได้ตลอดไป” หมอมิ้ง กล่าว
3 - หลังจากเป้าหมายที่ 1 และ 2 สัมฤทธิ์ผล จะเข้าสู่บันไดสำคัญ นั่นคือการแก้ปัญหาระยาว อย่าง ‘การแก้รัฐธรรมนูญ 2560’ ที่ยึดอำนาจของประชาชนไป เราจะใช้กระบวนการประชาธิปไตยคือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ เพิ่มอำนาจให้ประชาชน สร้างกลไกที่เป็นประชาธิปไตย กระจายอำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจต่างๆ
สำหรับปัจจัย 3 ประการ ที่จะทำให้ ‘บันได 3 ขั้น’ ประสบความสำเร็จได้นั้น หมอมิ้งกล่าวว่า เราต้องมี ‘ผู้สมัคร ส.ส.’ ที่ใกล้ชิดกับประชาชน รู้ทุกข์สุข และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาให้ บวกกับพรรคต้องมี ‘นโยบายที่แข็งแรง’ พรรคมีความพร้อมโดยระดมสมองทำนโยบายจากคนทุกรุ่น ทั้งอดีตรัฐมนตรี นักวิชการ ผู้ประกอบการ และคนรุ่นใหม่ และยังสามารถนำเอาศักยภาพซ่อนเร้นมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
สุดท้าย เพื่อให้สามารถยืนยันว่า ‘คิดใหญ่ เราทำเป็น’ เราจึงเสนอตัวแทน ‘นายกรัฐมนตรี’ ของพรรค เพื่อเป็นหลักประกันของการที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนบริหารที่มีความเชี่ยวชาญในทุกเรื่องที่กล่าวมา
“แม้วันนี้ผมจะยืนพูดเพียงคนเดียว แต่นโนยบายดีๆ ของพรรคเกิดจากคณะทำงานของพรรค ที่เราช่วยกันระดมสมอง เราทำงานกันรวมเวลาแล้วเป็นหมื่นชั่วโมง และมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกๆด้าน สิ่งสำคัญที่เป็นเป้าหมายของเรา คือเอาอำนาจประชาชนคืนมา ดังนั้น เราต้องคิดใหญ่ คิดครบ เป็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ ที่เห็นตั้งแต่ภาคต่างประเทศ เข้ามายันภาคการผลิต และภาคประชาชน นำเสนอวิธีการที่เป็นรูปธรรม นำเสนอยุทธศาสตร์ นำเสนอมาตรการพร้อมที่จะทำงาน และเรามีประสบการณ์ที่ผสมผสานจากคนที่มีประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่ เพื่อยึดคืนอำนาจของประชาชนคืนมา”
ก่อนจะจบด้วยบทสรุปซึ่งเป็นสโลกแกนพรรค “พรรคเพื่อไทย คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”
พรรคก้าวไกล ตัวแทนคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลายคนมองว่า ในการเลือกตั้งรอบนี้ พิธาคือม้าสำรองภายใต้ร่มเก่าของ ‘อนาคตใหม่’ ที่มีทั้งปีกก้าวไกลและก้าวหน้า แต่หลายครั้งเขาก็พยายามพิสูจน์ความ ‘เป็นตัวจริง’ ในสนามการเลือกตั้งรอบนี้จน ‘ธนาธร’ การันตีให้ว่า “นี่คือคนที่เหมาะสมต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย”
พิธาเริ่มด้วยการบอกว่ารู้สึกเสียดาย ที่ไม่ได้มีโอกาสพูดในช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 เนื่องจากเป็นเหยื่อของฝุ่น PM 2.5 จนเป็นหลอดลมอักเสบ แต่เขามั่นใจว่า สามารถตอบทุกคำถามตั้งแต่ช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ทั้งการปฏิรูปกองทัพ PM 2.5 และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้เพียงหนึ่งสไลด์ และสามารถตอบจุดแข็งของพรรคก้าวไกลด้วยคำเดียวให้จบด้วยคำๆ เดียวคือ ‘รัฐสวัสดิการ’ สิ่งนี้เองที่จะทำให้ ‘การเมืองดี ปากท้องดี และมีอนาคต’ เหตุผลของพิธาคือ
1 - การเมือง กับ ปากท้อง เป็นเหรียญเดียวกันที่แยกกันไม่ออก ไม่ว่าจะเรื่องเกี่ยวกับกัญชา แรงงาน PM 2.5 ถ้าอำนาจทางโครงสร้างยังไม่ใช่ ยังไงเสียคนที่เข้ามาในการเมืองด้วยการ ‘ลากตั้ง’ ไม่ใช่การเลือกตั้ง การนำภาษีของประชาชนไปแก้ปัญหาปากท้องอย่างยั่งยืน ไม่สามารถเป็นไปได้
2 - ไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะทำเหมือนเมื่อ 40 ปีที่แล้วได้ ต้องมองไปถึงอนาคตที่ประเทศไทยจะต้องเจริญเติบโต และลดความเหลื่อมล้ำไปได้ในวิถีเดียวกัน ไม่ใช่ GDP โต แต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่ม ไม่มีประโยชน์สำหรับประเทศไทย
3 - เราไม่ได้มองเพียง ทำจุดแข็งให้กลายเป็นโอกาส แต่เรามองจุดอ่อนให้เป็นโอกาสด้วย
ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ สามารถย่อยออกมาเป็น ‘รัฐสวัสดิการ’ และทั้งหมดจบอยู่ในสไลด์นี้ เพียงสไลด์เดียวของพรรคก้าวไกล
พิธา ยังอธิบายต่อไปว่า เมื่อพูดถึงคำว่ารัฐสวัสดิการ คงจะนึกถึงประเทศแถบยุโรปที่สวัสดิการดี ภาษีแพง แรงงานได้ค่าแรงแพง แต่ทั้งหมดไม่ได้มีแค่นี้ เพราะความจริงคือเจตจำนงทางการเมือง มันคือการต่อสู้ของพี่น้องแรงงาน เพื่อให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้ ส.ส.ในสภาเยอะๆ จนสามารถเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้ โดยเราเสนอรีดงบกองทัพ รีดไขมันในภาครัฐ แปลงมาเป็นสวัสดิการ คนที่พูดคำพูดนี้เป็นคนแรก คือประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1994
พิธา ยังยกตัวอย่างอีกว่า หลายพรรคการเมืองคิดว่าเบี้ยผู้สูงอายุต้องเป็น 3,000 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้า เพราะทุกวันนี้เขาได้กันเพียงเดือนละ 600-700 บาท หรือตกวันละประมาณ 20 บาท หรือตกเป็นค่าอาหารมื้อละ 7 บาท เท่ากับไข่ต้ม 1 ฟอง
“นี่เราจะเลี้ยงดูพ่อแก่แม่เฒ่าที่สู้มาก่อนเราด้วยไข่ต้ม 1 ฟองหรือ” พิธากล่าวตั้งคำถามกับผู้ฟัง ก่อนที่จะกล่าวต่อในช่วงสุดท้ายว่า สำหรับวิธีของการหาเงินแบบพรรคก้าวไกล ก็คือรีดไขมันออกจากกองทัพ 50,000 ล้าน ลดงบกลาง 30,000 ล้าน ทำภาษีมั่งคั่ง ภาษีรวมแปลง รวมถึงต้องปรับโครงสร้างและปฏิรูปเรื่องต่างๆ ซึ่งหากใครที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องคิดใหม่ ที่สำคัญคือ รัฐสวัสดิการมีพลวัตและต้อง “เลือกก้าวไกล เพื่อให้ไทยก้าวหน้า”
ต่อมาเป็นลีลาของ ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ ซึ่งใน 4 ปี ย้ายมา 2 พรรค เริ่มแรกก่อตั้งพลังประชารัฐกับ 4 กุมาร กินตำแหน่งใหญ่เป็นถึงเลขาธิการพรรค กับกระทรวงเกรดดีอย่างพลังงาน ต่อมาสะดุดขาเจ้าใหญ่ หอบผ้าหอบผ่อนมาตั้ง ‘สร้างอนาคตไทย’ หลังถูกปฏิบัติการจาก ‘แก๊งผู้กอง’ บีบพ้น พปชร. ทำท่าจะไม่เผาผีกับพรรคเก่า แต่ด้วยกติกาเลือกตั้งใหม่ ทำให้พรรคเล็กแตก สุดท้ายซมซานคืนรังกลับมาอยู่กับ ‘บิ๊กบาร์เธอร์’ ที่ชื่อประวิตร วงษ์สุวรรณ บ้านเดิม
สนธิรัตน์ กลับบ้านหลังเดิม แต่ได้หมวกใบใหม่ คือ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรคพลังประชารัฐ เปิดการขายด้วยการบอกว่า ถ้าเลือกตั้งพลังประชารัฐ ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีชื่อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเขามองว่า ป้อมคือจุดแข็ง และด้วยจุดแข็งนี้ จะทำให้เกิด 3 สิ่ง ในประเทศไทย
1 - มีพลังประชารัฐ = ไม่มีความขัดแย้ง สนธิรัตน์อธิบายว่า นี่คือจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญของพรรค ยอมรับว่า 17 ปีของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สาเหตุที่ทำให้ประเทศถดถอยมักจะเกิดจากความขัดแย้ง ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะก็ตาม พรรคพลังประชารัฐมีความมุ่งมั่นในการเป็นพรรคที่จะ ‘สร้างสมดุลของการแข่งขันทางการเมือง’ ไม่เข้าสู่กลไกความขัดแย้งเพราะหากเกิดความขัดแย้งก็ไม่ได้เกิดประโยชน์กับพรรคการเมืองและประชาชน นโยบายที่พูดกันทั้งหมดจะไม่มีความหมาย หากเกิดความขัดแย้งประเทศจะถอยกลับสู่ที่เดิม
สนธิรัตน์ยังหยิบ ‘จดหมายน้อย’ ของ พล.อ.ประวิตร ที่เขียนถึงความต้องการที่จะนำพาคนไทยและการเมืองไทยก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง โดยอ้างถึง ‘บารมี’ ของบิ๊กบาร์เธอร์ผู้นี้ และเชื่อว่า ‘พี่ป้อม’ จะสามารถที่จะโอบกอดทุกขั้วการเมืองเพื่อผ่านการขัดแย้ง และส่งผ่านการเมืองไทยไปสู่อนาคตข้างหน้าได้
2 - พรรคยังมีนโยบาย อาทิ ค่าครองชีพลดทันที ด้วยการปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปราคาน้ำมัน ปฏิรูปการสร้างรายได้ให้ประชาชนด้วยการติดตั้งโซล่าร์เซลล์บนหลังคา ใช้ระบบหัก ลบ กลบ จ่าย หลังคาของประชาชนจะเกิดเป็นรายได้และลดค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างราคาแก๊ส โดยดูโครงสร้างในอ่าวไทย ให้ประโยชน์กับประชาชนที่ใช้แก๊สในครัวเรือนก่อน และประชาชน 14 ล้านคนจะมีรายได้เพิ่มทันที 700 บาท ในวันรุ่งขึ้นหลังพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล ต่อยอดด้วยกลไกสร้างงานสร้างอาชีพ ให้โอกาสฝึกทักษะเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สุดท้ายคนไทยทุกช่วงวัยจะได้รับการดูแล โดยนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 4,000 และ 5,000 เมื่ออายุ 60 70 และ 80 ปี
3 - เศรษฐกิจฐานรากต้องฟื้น โดยจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม นำพาทุกคนไปสร้างงานที่ฐานราก ดังที่ได้ประกาศไว้ว่า “มีเรามีที่ทำกิน มีเราไม่มีแล้ง” ที่สำคัญ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องถูกกระจายไปสู่ประชาชนฐานราก เพื่อให้เป็นเจ้าของวัตถุดิบทางการเกษตรและมีรายได้จากโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำให้ SMEs มีโอกาสพลิกฟื้นจากภาวะเป็นหนี้ ด้วยกองทุน SMEs พลังประชารัฐ เติมทุนให้ตั้งตัวได้ พัฒนาสร้างทักษะ สร้างแต้มต่อเพื่อความมั่นคงของเอสเอ็มอี
สนธิรัตน์อธิบายต่อไปว่า จะยกระดับเศรษฐกิจจากเครื่องยนต์เดิม เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเรื่องนวัตกรรม ดิจิตัล เศรษฐกิจสีเขียว ไม่ปล่อยให้การพัฒนาประเทศอยู่ในจุดเดิม จะเติมโครงสร้างหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ EEC หรือสาธารณูปโภค ขณะเดียวกันต้องต่อเติมจุดแข็งของประเทศในภาคเกษตรไปสู่เกษตรชีวภาพ เปลี่ยนปาล์มน้ำมัน มันสําปะหลัง อ้อย ไปสู่น้ำมันเครื่องบิน Biojet และจะต้องไปสู่ธุรกิจอาหารที่เป็นหัวใจสำคัญ รวมทั้งไปสู่ธุรกิจ EV ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่รถไฟฟ้า ให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น
พรรคภูมิใจไทย มีหัวหน้าพรรคชื่อ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ อนุทินเติบโตมาในครอบครัวธุรกิจ พ่อของเขา ‘ปู่จิ้น ชวรัตน์’ เป็นผู้ก่อตั้ง บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เติบโตทางการเมืองภายใต้ร่วมเงาไทยรักไทย ต่อมามีอุบัติเหตุทางการเมือง และชักพาไปร่วมก่อร่างพรรคใหม่กับ ‘พี่เนวิน’ ในชื่อ ภูมิใจไทย และใหญ่โตมาจนถึงปัจจุบัน
อนุทิน เริ่มต้นด้วยการบอกว่า ถ้าเลือกพรรคภูมิใจไทย จะได้คนชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรียกเสียงปรบมือให้กับกองเชียร์ที่มาให้กำลังถึงข้างเวที
จุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ที่จะชูในการเลือกตั้งรอบนี้คือ จะไม่เป็นปัจจัยความขัดแย้ง อนุทินใช้คำว่า “ต้องไม่เอาชนะพรรคการเมืองด้วยกัน หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วบอกว่าตัวเองชนะ” เพราะเขามองว่าไม่มีประโยชน์ ส่วนคนที่จะชนะภูมิใจใจไทยได้ก็มีเพียงประชาชน
อนุทิน ยังขยายความหมายของ “พูดแล้วทำ” ซึ่งเป็นสโลแกนพรรคว่า การเสนออะไรต้องปฏิบัติได้จริง ทำเร็ว ทำได้เลย กล้าตัดสินใจสนับสนุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และกล้าคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการทุจริตต่อบ้านเมือง (แม้ในข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข่าว มีนักการเมือง 2 คนจากภูมิใจไทย ถูกชี้มูลความผิดด้วยคดีจุริตก็ตามที)
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังชี้จุดเด่นอีกข้อ คือ ความมีระเบียบยวินัยภายในพรรค โดยบอกว่าพรรคนี้เป็นพรรคเคร่งครัดกติกา ทั้งกติกาทางกฎหมาย ในสภาฯ เสียงข้างมาก และ กติกาการอยู่ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เน้นการทำให้รากฐานของประชาชนเข้มแข็ง ผ่านระบบที่ลดความเหลื่อมล้ำ คนไทยต้องมีสุขภาพดี สัญจรไปมาสะดวก ต้องมีโอกาสประกอบธุรกิจ และอาชีพโดยไม่มีการกีดกัน
พรรคภูมิใจไทยมีคนที่เข้าใจบริบทนี้และบุคลิกแบบนี้อยู่เต็มพรรค โดยอนุทินยังยกตัวอย่างยุคนี้ที่ภูมิใจไทยได้ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขมา 4 ปี ยืนยันได้เลยว่า “ประชาชนไทยจะไม่มีวันล้มละลายจากปัญหาสุขภาพตัวเอง” และพรรคภูมิใจไทยจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาถิ่นกำเนิดตัวเอง ด้วยการมี “ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน”
“สำหรับจุดแข็งของพรรคภูมิใจไทยที่ประกาศ คือ พรรคภูมิใจไทยทำได้แน่นอน เพราะเราคือพรรคที่มีขนาดพอสมควร และที่สำคัญ เราสามารถที่จะประสานเชื่อมทุกพรรคได้ ทำให้เกิดความสามัคคี และความสงบของคนในชาติ พรรคภูมิใจไทยทำได้ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ คือทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างดี และไปอินเตอร์ไม่อายใครอย่างแน่นอน สามารถทำให้นานาอารยประเทศให้ความเชื่อมั่น และเชื่อถือต่อประเทศไทย” อนุทิน กล่าวด้วยความมั่นใจ
อนุทิน กล่าวปิดการขายว่า “รัฐมนตรีทุกคนของพรรคภูมิใจไทยสามารถทำงานเข้ากับข้าราชการได้ ด้วยความเข้าใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งยังทำงานร่วมกันระหว่างการเมืองต่อการเมืองได้ ในกรณีที่เราไม่มีความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องของอุดมการณ์ พรรคภูมิใจไทยจึงอยากจะเรียนว่า วันนี้ผมมาย้ำจุดยืน ชูจุดขาย และประกาศจุดแข็ง ทั้งหมดนี้ เรากราบเรียนแล้วว่า เราจะทำทันทีตามที่ได้พูด หลังจากที่เราได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล และถ้าเป็นไปได้ ผมจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขอบคุณครับ”
ถึงบรรทัดนี้ อาจทำเอาหลายคนอยากออกไปกาบัตรมันเสียตั้งแต่ตอนนี้
เพราะแต่ละคน ‘เชียร์เก่ง-ขายคล่อง” จนนึกว่าพรุ่งนี้ กำลังจะมีเลือกตั้ง!
ขอบคุณภาพ-ข้อมูลบางส่วน : เวทีดีเบท "ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง" ของเครือมติชน