นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักยาและวัตถุเสพติด ได้รับของกลางจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เมื่อเดือน มี.ค. 2562 ลักษณะเป็นเม็ดกลมแบนสีฟ้า ด้านหนึ่งมีตัวอักษร "D A N" และตัวเลข "5 6 2 0" อยู่บนแต่ละข้างของขีดแบ่งครึ่งเม็ด อีกด้านหนึ่งมีตัวเลข “10” จำนวน 99,850 เม็ด ซึ่งจับกุมได้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และส่งตรวจพิสูจน์โดยสงสัยว่าเป็นยาไดอาซีแพม (Diazepam) ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
จากการตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการ ไม่พบไดอาซีแพม แต่ตรวจพบไดคลาซีแพม ที่ยังไม่มีการควบคุมทางกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งจากรายงานในต่างประเทศพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและเสียชีวิตด้วยยาชนิดนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะในทวีปยุโรป
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า "ไดคลาซีแพม" เป็นยาคลายเครียดในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีน เช่นเดียวกับ ไดอาซีแพม ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายไดอาซีแพม แต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าประมาณ 10 เท่า สังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 แต่ไม่ได้มีการนำมาใช้เป็นยาทางการแพทย์ และไม่มีข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยในมนุษย์ เนื่องจากพบว่าเสพติดได้ง่ายแม้ใช้ในขนาดปกติ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกันอีก 3 ชนิดก่อนขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะซึ่งสามารถตรวจพบได้นานถึง 10 วันหลังการใช้ จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ชนิดใหม่ที่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและแพร่ระบาดมากในต่างประเทศ มักลักลอบขายทางอินเทอร์เน็ต
การใช้ยาติดต่อกันในขนาดที่สูงจะทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาเกินขนาดได้ง่าย พบรายงานการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจำนวนมากในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, สวีเดน, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ไดคลาซีแพม ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ เช่น ออกซิโคโดน มอร์ฟีน และเฮโรอีน หรือใช้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางเช่นเดียวกัน มีผลให้ปริมาณ ไดคลาซีแพม ในร่างกายสูงเกินขนาด ทำให้หายใจลำบาก โคม่า และเสียชีวิตได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ไดคลาซีแพม ยังไม่ได้มีการควบคุมทางกฎหมายโดยสหประชาชาติ รวมทั้งในประเทศไทย แต่มีการควบคุมเช่นเดียวกับไดอาซีแพมในแคนาดา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ในสหราชอาณาจักรมีการควบคุมเมื่อปี 2559 นอกจากนี้ยังมีการควบคุมแล้วในอีกหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, สวิสเซอร์แลนด์, ตุรกี และเกาหลีใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการตรวจพบไดคลาซีแพมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดแล้วในประเทศไทย ยาชนิดนี้ไม่มีการนำมาใช้ทางการแพทย์ แต่มีแนวโน้มการนำมาใช้ในทางที่ผิดสูง ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้เสนอข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อใช้ในการพิจารณาควบคุมทางกฎหมาย เฝ้าระวังการแพร่ระบาด และสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป