ไม่พบผลการค้นหา
ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ยืนยันรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป แนะแนวทางแก้ไขคือ การเพิ่มสิทธิและอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น

รองศาสตราจารย์พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวในเวทีสาธารณะ ครั้งที่ 2 "การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย" โดยยืนยันว่า รัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์กับการปฏิรูปสังคม เพราะเป็นการจัดวางโครงสร้างอำนาจ ซึ่งหากสมดุลจะเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ แต่หากขาดความสมดุลก็จะเกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยมีบทเรียนตามประวัติศาสตร์จำนวนมากที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม โดยยกการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า มีพลังงานน้อยมาก แต่วันนี้มีพลังบางอย่างที่อาจเป็นอุปสรรค 

อย่างไรก็ตาม มองว่า การสวิงเกินไปหรือโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมมากเกินไป ก็มีสัญญาณหลายอย่างที่กลุ่มพลังอำนาจที่มีบทบาทต่อการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตระหนักและรับรู้อยู่พอสมควร ซึ่งจะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาในการขับเคลื่อน โดยส่วนตัวไม่ต้องการให้การขับเคลื่อนเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการจุดชนวนการนองเลือด แต่หวังให้เป็นช่องทางให้กลุ่มพลังต่างๆ ทางสังคมมานั่งพูดคุยเจรจาและหาทางออกร่วมกัน 

พร้อมกับยืนยันว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป ทั้งจำกัดสิทธิและลดอำนาจของประชาชนมากที่สุด หากเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งและการกระจายอำนาจ ดังนั้น แนวทางหลักในทางการเมืองของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการเพิ่มสิทธิและอำนาจของประชาชนให้มากขึ้น, ในทางเศรษฐกิจ ต้องต่อสู้หรือจำกัดอำนาจกลุ่มทุนผูกขาด โดยเฉพาะที่อยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. โดยต้องสร้างกลไกให้ตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นกรรมการในการตัดสินใจเชิงนโยบายรวมถึงในองค์กรอิสระให้มากขึ้น ในสัดส่วนที่สมดุลกับกลุ่มทุนและอำนาจรัฐ 

ส่วนด้านสังคม คือ ระบบการศึกษาที่มีปัญหามาตลอด จากฐานคิดของรัฐที่มุ่งสร้างโรงเรียนเพื่อรองรับชนชั้นนำ ที่รัฐทุ่มงบประมาณมหาศาล ขณะที่สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนหลายจำนวนมากไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งจะเกิดจากความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณรัฐในเรื่องการศึกษา ที่จะนำสู่การปฏิรูปสังคมด้านอื่นๆ