ผลนับคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร ซึ่งลุล่วงไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ปรากฏว่า 'พรรคอนุรักษนิยม' ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ชนะการเลือกตั้งกว่า 356 เขต และมี ส.ส.ในสภาเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่ง ทั้งยังมีแนวโน้มว่าพรรครัฐบาลจะมีคะแนนเพิ่มขึ้นอีกเมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ
'บอริส จอห์นสัน' นายกรัฐมนตรีอังกฤษแห่งพรรคอนุรักษนิยม ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยระบุว่า ผลการลงคะแนนครั้งนี้สะท้อนว่ารัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมได้รับอำนาจเต็มที่ (จากประชาชน) ให้เดินหน้ากระบวนการเบร็กซิตให้สำเร็จ และจอห์นสันเป็นผู้ที่สนับสนุนให้อังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) มาตั้งแต่ต้น
ขณะที่ 'เจเรมี คอร์บิน' หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งหาเสียงด้วยการเสนอนโยบายลงประชามติครั้งใหม่เกี่ยวกับกรณีเบร็กซิต รวมถึงเสนอแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุข มี ส.ส.ในสภาอย่างน้อย 201 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่พรรคแรงงานภายใต้การนำของคอร์บินแพ้การเลือกตั้งในเขตที่พรรคเคยเป็นฝ่ายชนะ โดยครั้งนี้เสียที่นั่งอย่างน้อย 55 เขตทั่วประเทศ จึงมีแรงกดดันภายในพรรคให้เขาสละตำแหน่ง แต่คอร์บินยืนยันว่า เขาจะไม่นำพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ขณะเดียวกันก็ยังไม่รับปากว่าจะสละตำแหน่งหรือไม่
ส่วน 'นิโคลา สเตอร์เจียน' นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ หัวหน้าพรรค SNP มีคะแนนเลือกตั้งสูงเป็นอันดับ 3 รองจากพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงาน โดยพรรค SNP มีที่นั่งในสภาแล้ว 48 ที่นั่ง และเป็นการชนะในเขตอื่นๆ เพิ่มจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 14 ที่นั่ง
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรครั้งนี้ถูกประเด็นเบร็กซิตกลบเรื่องสำคัญทางสังคมอื่นๆ ไปจนหมด เพราะเบร็กซิตเป็นเรื่องที่ค้างคามาตั้งแต่การลงประชามติเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิม อังกฤษต้องออกจากการเป็นสมาชิกอียูในวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลของจอห์นสันไม่ได้รับความเห็นชอบผ่านมติสภา เขาจึงยื่นเรื่องต่ออียู ขอเลื่อนกำหนดเบร็กซิตออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2563 และจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดเพื่อขอความเห็นจากประชาชนในวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่า กระบวนการเบร็กซิตในปีหน้าจะดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะประเทศสมาชิกอียูยังไม่ได้เห็นชอบแผนดำเนินการเบร็กซิตแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่อังกฤษเสนอไปก่อนหน้านี้
อียูและรัฐบาลอังกฤษต้องหามติร่วมกันให้ได้ในกรณีที่เกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้า รวมถึงจะต้องหารือเรื่องการพิจารณาปรับเปลี่ยน 'สิทธิประโยชน์' ที่อังกฤษเคยได้รับจากสภาพเศรษฐกิจแบบ 'ตลาดเดียว' (single market) ของอียู
ที่มา: DW/ The Guardian/ Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: