สำนักข่าวรอยเตอร์ ชื่นชมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของไทย โดยระบุ เป็นฮีโร่ในระบบสาธารณสุขไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำหน้าที่คอยสอดส่อง คอยตรวจเช็กและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน
ช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 อสม.จะทำหน้าที่ในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายคนในชุมชนและรายงานให้แก่ชุมชนได้รับทราบถึงการเคลื่อนไหวต่างๆ ของคนในชุมชน
'สุริน มากระดี' อสม.ในจังหวัดอ่างทองวัย 77 ปี กล่าวว่า "เธอดูแลทุกคนในชุมชนเสมือนเป็นครอบครัว หากไม่มีการให้ความรู้เรื่องโควิดแก่ประชาชน ประชาชนก็จะไม่มีความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงของการติดเชื้อ"
ประเทศไทยเป็นชาติแรกที่พบเจอผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีนมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อเพียง 3,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพียง 58 รายเท่านั้น
ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่อง อสม.ไทยในฐานะฮีโร่ที่ไม่เปิดเผยตัวตนในประเทศไทย เป็นผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยคอยทำหน้าที่ป้องกัน ตรวจค้นหาและรายงานสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ
อสม.มรดกตกทอดจากสงครามเย็น
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีจุดกำเนิดขึ้นเมื่อในปี ค.ศ.1977 หรือ พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทในช่วงอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ได้แพร่เข้ามาในประเทศไทย
อสม.จะถูกฝึกให้มีความรู้พื้นฐานทางสาธารณสุขในการรักษาโรคเบื้องต้น ซึ่ง ณ ขณะนั้นการเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเป็นเรื่องที่ยากในพื้นที่ชนบท
'ดร.ชาติชาย มุกสง' อาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า อสม.เป็นบุคลากรที่อยู่ในชุมชนทำหน้าที่ดูแลเรื่องการรักษาทางการแพทย์ และนี่คือสิ่งที่สำคัญเมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดในระบบสาธารณสุขของไทย อสม.เป็นผู้ที่มีความสำคัญมานานกว่าทศวรรษ และยังมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาดทั้งไข้หวัดนก H5N1 ในช่วงกลางปี 2000
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาบทบาทและหน้าที่ของ อสม.นั้นถูกลดทอนลงไปจนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ อสม.กลับมามีบทบาทที่สำคัญอีกครั้ง