5 ม.ค. 2564 ‘วอยซ์’ ลงสำรวจพื้นที่ตลาดห้วยขวาง เพื่อสะท้อนผลกระทบจากปัญหา “ค่าครองชีพ” ซึ่งกลายเป็นวิกฤตรับปีใหม่ ตั้งแต่ราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นต่อเนื่อง ไปจนถึงการปรับราคาค่าไฟเป็น 3.78 บาทต่อหน่วยครั้งแรกในรอบ 2 ปี
วรรณิษา พรหมจันทร์ ผู้ค้าเนื้อหมู เผยว่าเวลานี้เป็นช่วงที่เนื้อหมูราคาแพงที่สุดในรอบ 20 กว่าปี ที่ผ่านมาราคาหมูสามชั้นเคยสูงสุดอยู่ที่ 190 บาทต่อ กก. แต่ตอนนี้ราคาขึ้นไปถึง 250 บาท ต่อ กก. ส่งผลให้ยอดขายลดลงไปอย่างมาก จากที่ปกติเคยขายเนื้อหมูได้วันละ 600 – 700 กก. ปัจจุบันขายได้เพียงวันละกว่า 100 กก. เท่านั้น
“ตอนนี้ก็จะไม่ไหวแล้ว จะเลิกขายแล้วเหมือนกัน เพราะเราขายไม่ได้กำไร มีแต่ขาดทุน ควักเงินตัวเองออกมาจ่าย เพราะค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิม แต่ของขายได้ลดลง ตอนนี้แบกภาระเยอะมาก ทั้งค่าจ้างลูกน้อง ค่าเช่าแผง” วรรณิษาระบุ
เช่นเดียวกับ กาญจนา พรหมจันทร์ ที่กล่าวว่า ราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 8-10 บาท จนช่วงก่อนปีใหม่ที่ราคาพุ่งสูงถึง 20 บาท และตนมองว่าในเดือนต่อๆ ไปราคาก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เพราะเข้าใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน และตนมองว่าราคาเนื้อหมูคงจะไม่ลงมาในเร็วๆ นี้แน่
ขณะที่ บังออน ทับฮูเตา เจ้าของร้านลาบ ยังเป็นหนึ่งในผู้ค้าที่ไม่ปรับขึ้นราคาขาย ยังคงอยู่ที่ 60 บาท เหมือนเดิม แต่ต้องยอมแลกกับกำไรที่น้อยลง เพราะเข้าใจว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ต่างฝ่ายก็ต่างไม่มีเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หากราคาหมูยังไม่ลดลงก็อาจจำเป็นต้องขอขึ้นเป็น 65 บาท ซึ่งตนก็มองว่าแพงแล้ว
ทางด้านผู้บริโภค สมจิตร กล่าวว่า รู้สึกตกใจกับราคาหมูที่แพงขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ เช่น ผักบางชนิด รวมไปถึงการปรับเพิ่มค่าไฟก็มีความน่าหนักใจ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน ลำพังการหารายได้ก็ลำบากพออยู่แล้ว แต่สินค้าต่างๆ กลับราคาแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ลูกค้ารายนี้ระบุว่า “ต้องทนกันไป”
เมื่อถามถึงความมั่นใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ สมจิตกล่าวว่า “ไม่มีความมั่นใจเลย เพราะที่ดูมายิ่งแย่ลง คนอยู่ลำบากขึ้น เปิดประเทศแล้วยิ่งแย่กว่าไม่เปิด กลัวอย่างเดียวคือเรื่องอาชญากรรม และเรื่องความเครียด คนจะคิดสั้น ปัญหาในครอบครัวอาจจะเกิดเยอะขึ้น เนื่องจากคนหาเงินกันไม่ได้”
ด้าน สมศักดิ์ มีชัย ผู้ค้าเนื้อวัว มองว่าช่วงนี้เศรษฐกิจทรุดลงมาก แม้ราคาเนื้อวัวจะเริ่มคงที่แล้ว แต่ราคาเนื้อสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาหลายปี จนไม่ค่อยมีลูกค้ามาจับจ่าย
สำหรับมาตรการเยียวยาจากทางรัฐบาลช่วงปีใหม่ สมศักดิ์ ระบุว่าช่วยให้ดีขึ้นมาได้บ้าง แต่ไม่ค่อยมีเหลือเก็บ เป็นการประคองชีวิตไปวันๆ แต่ในระยะยาวยังคงมีความกระท่อนกระแท่น และอยากให้รัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม ให้ประชาชนมีรายได้ทั่วถึง สามารถมาจับจ่ายสินค้าได้