ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองสูงสุด ยกคำขอ "กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี" ให้ทุเลาผลการพิจารณาสอบไม่ผ่านซองที่ 2 โครงการพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 เหตุไม่เข้าเงื่อนไข ส่งผลหมดสิทธิ์เข้าประมูลพัฒนาโครงการ

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด , บมจ. พริมา มารีน (PRM) , บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด , บริษัท PHS Organic farming จำกัด และบริษัท China Railway construction Corporation จำกัด เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 หรือ ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอฯ เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี 

ทั้งนี้ เนื่องจากศาลเห็นว่า กรณีตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ยังไม่เข้าเงื่อนไขในการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้

อ่านรายละเอียด : ที่นี่

กรณีนี้เกิดจากเมื่อเดือน เม.ย. 2562 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือ-แหลมฉบังระยะที่ 3 ได้ประชุมพิจารณาซองเอกสารประกวดราคาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ซึ่งมีกลุ่มบริษัทที่สนใจร่วมลงทุนยื่นซองเสนอราคารวม 2 กลุ่ม (Consortium) ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC และกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP

เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ (ซองที่ 2) คือ คุณสมบัติทั่วไปของนักลงทุน คุณสมบัติทางการเงิน และประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอแล้ว ได้ลงความเห็นให้กลุ่มกิจการร่วมค้าทั้ง 2 กลุ่ม ชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ประกอบการพิจารณา

ในเวลาต่อมา คณะกรรมการพิจารณาฯ ได้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดอีกครั้ง พบว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ยื่นเอกสารไม่ถูกต้อง จึงส่งผลให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ และต้องทำการตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP และทางกลุ่มได้ยื่นเรื่องร้องศาลปกครองพิจารณา

ทั้งนี้ โครงการการก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 155,834 ล้านบาท ผู้ยื่นซองเสนอราคา 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท., บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ China Harbour Engineering Company Limited 

ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (AI) บริษัทลูกของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM และบริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง

1 ใน 5 โครงการพัฒนาอีอีซี

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการลงทุนภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกเหนือจาก โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรรภูมิ-อู่ตะเภา)

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สำนักงาน อีอีซี เคยประเมินว่าโครงการลงทุนหลักของอีอีซีทั้ง 5 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านบาท และประเมินว่า จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 820,000 ล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงิน 560,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดนี้รัฐเป็นผู้ลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงินของภาครัฐ ประมาณการไว้ที่ 450,000 ล้านบาท และจะเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่าปีละ 4 หมื่นคน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :