ทีมข่าวนิวส์ไนต์ของสำนักข่าวบีบีซีร่วมกับสถาบันเพื่อการสนทนาเชิงยุทธศาสตร์ (Institute for Strategic Dialogue: ISD) เพื่อศึกษาเนื้อหาและธรรมชาติของความเห็นที่ผู้คนมีต่อนักการเมืองมีชื่อทั่วยุโรป โดยศึกษาเปรียบเทียบพบว่านักการเมืองหญิงโดนคุกคามด้วยข้อความมากกว่านักการเมืองชาย โดยการดูถูกคุกคามจำนวนมากเป็นไปในลักษณะของการเหยียดเพศ เช่น วิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ ความสัมพันธ์ และกิจกรรมทางเพศ ขณะที่การด่านักการเมืองชายมุ่งเป้าไปที่อุดมการณ์และความคิดมากกว่า
กรณีศึกษาหลักในครั้งนี้คือ แคทารีนา ชูลซ์ หัวหน้าในรัฐบาวาเรียของพรรคกรีนส์ (Greens) ในประเทศเยอรมนี ถูกคุกคามจากทั้งนักการเมืองและผู้นำทางความคิดฝ่ายขวาจัดในช่วงหลายเดือนมานี้
เพจเฟซบุ๊กของพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี หรือพรรคเอเอฟดี (Alternative fur Deutschland: AfD) พรรคฝ่ายขวาจัดของเยอรมนี มีการโพสต์พาดพิงถึงชูลซ์ในสัดส่วนที่มากกว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองเยอรมันถึง 10 เท่า ในช่วงต้นปี 2019 ถึงเดือนเมษายน และพาดพิงถึงมากกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดรวมกันถึง 4 เท่า มากกว่าที่พรรคของชูลซ์เองพูดถึงเธอเสียอีก
หลายโพสต์วิจารณ์ที่ชูลซ์รู้สึกถูกคุกคามโดยผู้ชายผิวขาว พร้อมชี้ว่าที่จริงแล้วเธอควรขอบคุณคนเหล่านี้ที่อนุญาตให้ "สาวน้อยอย่างเธอได้ในสิ่งที่ต้องการ" และมีโพสต์อื่นๆ ที่บอกว่าเธอเป็นคนเหยียดเชื้อชาติและเป็นพวกต่อต้านเยอรมนี คอมเมนต์ใต้โพสต์เหล่านี้ก็ส่อไปในเรื่องทางเพศ รวมถึงมีคอมเมนต์จำนวนมากที่สื่อในเชิงว่าอยากให้เธอถูกข่มขืน
ชูลซ์ ยังได้รับอีเมลคุกคาม รวมถึงคำขู่ว่าจะล่วงละเมิดทางเพศเธอ บางอีเมลวิพากษ์วิจารณ์การที่เธอสนับสนุนการรับผู้อพยพเข้าประเทศ โดยไล่ให้เธอไปร่วมเพศกับผู้อพยพ ชูลซ์ประมาณว่าข้อความราว 20 เปอร์เซ็นต์ที่ส่งถึงเธอเป็นข้อความคุกคาม
กว่าหนึ่งส่วนสี่ของข้อความคุกคามที่เธอได้รับในสื่อโซเชียลกระแสหลักนั้น มุ่งเป้าไปที่รูปลักษณ์ เพศสภาพ และเพศวิถีของเธอ ตั้งแต่ด่าว่าเธออ้วน รวมถึงมีทวีตในทวิตเตอร์ไล่ให้เธอไปร่วมเพศกับผู้อพยพเช่นกัน
แม้แต่ลุดวิก ฮาร์ตมันน์ ชายผู้เป็นหัวหน้าในรัฐบาวาเรียของพรรคกรีนส์ร่วมกับชูลซ์เอง ก็ไม่ได้ถูกคุกคามด้วยข้อความในลักษณะเดียวกับที่ชูลซ์โดน แม้ว่าจะมีจุดยืนเกี่ยวกับการรับผู้ลี้ภัยไม่ต่างชูลซ์ก็ไม่มีใครไล่เขาไปนอนกับผู้ลี้ภัย คำวิพากษ์วิจารณ์ที่เขาได้รับโดยส่วนใหญ่มุ่งโจมตีตัวพรรคมากกว่า โดยมีหลายทวีตเรียกเขาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดึงดูดพวกเด็กที่อ่อนประสบการณ์การเลือกตั้ง
ในเว็บบอร์ดเฉพาะทางอย่างโฟร์จัง (4chan) เว็บบอร์ดสำหรับผู้นิยมความไม่ถูกต้องทางการเมือง (political incorrectness) ผู้ใช้งานได้โพสต์ภาพและเนื้อหาล้อเลียนโจมตีรูปร่างและชื่อเสียงของชูลซ์ อย่างการทำรูปตัดต่อของชูลซ์ทำท่าเคารพแบบนาซี รวมถึงโพสต์ที่ล้อเลียนเรื่องน้ำหนักตัวของเธอ
เซซิล เกริน นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการสนทนาเชิงยุทธศาสตร์ เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชูลซ์ว่าเป็นความพยายามโดยพร้อมเพรียงของฝ่ายขวาสุดโต่งที่มุ่งเป้าคุกคามและสร้างความอับอายให้นักการเมืองหญิง
มาร์ทิน ซิเชิร์ท หัวหน้าในรัฐบาวาเรียของพรรคเอเอฟดี พรรคฝ่ายขวาจัดเองก็ตกเป็นผู้ถูกคุกคามในโลกออนไลน์เช่นกัน แต่เนื้อหาของข้อความเหล่านั้นมุ่งเป้าไปที่มุมมองทางการเมืองมากกว่ารูปลักษณ์แบบที่ชูลซ์โดน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีหลายความเห็นบนทวิตเตอร์โจมตีนโยบายของซิเชิร์ทว่าเหลวไหล และตีตราว่าเขาเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติน่าสมเพช
ซิเชิร์ทเองเล่าว่าตัวเขาเองก็ได้รับคอมเมนต์โจมตีรูปลักษณ์อยู่เหมือนกัน อย่างการถูกเรียกว่า 'ไอ้หมูอ้วนสีน้ำตาล' ในโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของนิวส์ไนต์และสถาบันฯ เผยว่าชูลซ์ได้รับข้อความคุกคามรูปลักษณ์และคอมเมนต์ส่อไปในทางเพศน้อยกว่าที่ชูลซ์ซึ่งเป็นผู้หญิงได้รับ
ชูลซ์ กล่าวกับนิวส์ไนต์ว่าในฐานะผู้หญิงที่ทำงานการเมือง ผู้คนจะปฏิบัติกับคุณและคุกคามคุณในรูปแบบที่ต่างออกไปมาก
"คนในโลกออนไลน์เพิกเฉยความสำเร็จในฐานะนักการเมืองของฉันอย่างสิ้นเชิง แล้วพูดถึงกันแต่เรื่องอายุ ร่างกาย และรูปร่างหน้าตาของฉัน รวมถึงสิ่งที่อยากให้ฉันโดน ฉันไม่อ้วนไป ก็เตี้ยไป ผมบลอนด์เกินไป ก็เด็กเกินไป" ชูลซ์กล่าว
ไม่เพียงแต่ชูลซ์เท่านั้นที่เป็นนักการเมืองหญิงที่เผชิญกับการคุกคามอย่างเลือกปฏิบัติ ซิเบท เอ็นจายเย นักการเมืองชาวฝรั่งเศส ก็ถูกโจมตีรูปลักษณ์และชาติกำเนิด ในช่วงที่เธอได้รับการเสนอให้เป็นโฆษกรัฐบาลคนแรกที่เป็นคนผิวสี โดยมีข้อมูลบิดเบือนและคุกคามผ่านทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโฟร์จัง
ผลการวิเคราะห์ของสถาบันเพื่อการสนทนาเชิงยุทธศาสตร์ ชี้ว่าภายในช่วงสองสับดาห์หลังเธอได้รับการเสนอชื่อ 22.7 เปอร์เซ็นต์ของข้อความที่ส่งถึงนิจายเยผ่านทางทวิตเตอร์เป็นข้อความคุกคาม โดยมีทั้งข้อความที่เหยือดเพศและเหยียดผิว
หนึ่งในข้อความเหล่านั้นระบุว่า "ทรงผมแอฟโฟรแบบนี้มันคิดว่าตัวเองเป็นใครกัน นึกว่าอยู่ในหมู่บ้านตัวเองในเซเนกัลเหรอ ที่นี่ฝรั่งเศสนะโว้ย นี่มันก็เป็นแค่การยั่วโมโหของไอ้จำอวดนี่เท่านั้นแหละ แค่เพราะมันเป็นคนดำไม่ได้หมายความว่ามันจะมีสิทธิทำอะไรตามใจก็ได้นะ"
ขณะที่นักการเมืองชายอย่าง จอร์แดน บาร์เดลลา หัวหน้าพรรคราซซอมเบลอมองท์ นาซิองนัล (Rassemblement National) ซึ่งเป็นที่พูดถึงขึ้นมาในช่วงเดียวกับนิจายเย ก็ถูกคุกคามด้วยข้อความในลักษณะที่ต่างออกไป โดยถูกด่าด้วยคำด่าหยาบคายมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์
ในสหราชอาณาจักรเอง นักการเมืองหญิงอย่างแอนนา ซูบรี และไดแอน แอบบอตต์ ก็ตกเป็นเป้าของข้อความคุกคามในทวิตเตอร์และโฟร์จังเช่นกัน
ช่วงที่มีการลงประชามติเบร็กซิต โดมินิก กรีฟ นักการเมืองชายผู้สนับสนุนให้อังกฤษยังอยู่ในอียู ได้รับข้อความโจมตีในทวิตเตอร์ที่มีใจความว่า "ขายชาติ" ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีการทวีตพาดพิงเรื่องเพศของกรีฟเลย
ขณะที่ซูบรีซึ่งสนับสนุนให้ยังอยู่ในอียูเหมือนกัน แต่เป็นนักการเมืองหญิง กลับได้รับข้อความคุกคามมากกว่าถึง 2 เท่า และครึ่งหนึ่งนั้นพุ่งเป้าวิจารณ์เพศของเธอเป็นพื้นฐาน ข้อมูลจากสถาบันเพื่อการสนทนาเชิงยุทธศาสตร์ระบุ
หนึ่งในโฆษกเฟซบุ๊กกล่าวกับนิวส์ไนต์ ว่าเฟซบุ๊กไม่มีพื้นที่สำหรับการคุกคามที่มุ่งเป้าไปที่นักการเมือง และทำงานอย่างหนักในการลบ โดยเร็วๆ นี้เฟซบุ๊กได้เริ่มลบการสบถด่าเพศสภาพที่มุ่งเป้าไปที่บุคคลสาธารณะ และจะไล่ลบถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในทุกรูปแบบต่อไป
"เราได้พบกับนักการเมืองหญิงหลายคนเพื่อแบ่งปันแนวทางว่าพวกเขาจะปกป้องเพจของตัวเอง ซ่อน หรือลบคอมเมนต์คุกคาม และอยู่บนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยได้อย่างไร" โฆษกเฟซบุ๊กระบุ
นิก พิกเคิลส์ นักกลยุทธ์นโยบายสาธารณะอาวุโสของทวิตเตอร์ กลาวว่าทางบริษัทมีนโยบายพิจารณาความประพฤติเป็นหลัก โดยใช้ระบบการเรียนรู้ของเครื่องร่วมกับการพิจารณาโดยมนุษย์เพื่อลำดับความสำคัญของปัญหาที่ถูกแจ้งเข้ามา โดยจะพิจารณาว่าผู้ใช้บัญชีนั้นๆ ประพฤติตัวอย่างไรก่อนจะไปดูเนื้อหาที่โพสต์
การถูกคุกคามในสัดส่วนที่ต่างกันเพราะเพศไม่ได้เกิดแต่กับนักการเมืองเท่านั้น งานวิจัยซึ่งศึกษานักเรียนไอร์แลนด์เหนือในช่วงอายุ 14 -16 ปี 525 คน พบว่า 22 เปอร์เซ็นต์ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ โดยในจำนวนนี้ เด็กผู้หญิงถูกกลั่นแก้ลงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เด็กชายถูกกลั่นแกล้ง 17 เปอร์เซ็นต์
ที่มา: BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: