ไม่พบผลการค้นหา
เวที​อภิปรายเรื่อง "ธุรกิจการเมืองกับบทบาทในพรรคการเมือง : โอกาสและผลกระทบต่อการเมืองไทย" เห็นว่าปัจจุบันนักธุรกิจเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น

เวที​อภิปรายเรื่อง "ธุรกิจการเมืองกับบทบาทในพรรคการเมือง : โอกาสและผลกระทบต่อการเมืองไทย" เห็นว่าปัจจุบันนักธุรกิจเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น จนต้องมีกฎหมายและกรอบต่างๆ ขึ้นมาควบคุมการเอื้อประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชน แต่กระบวนการตรวจสอบการเอื้อประโยชน์กลับยังไม่มีประสิทธิภาพ

 

เวทีอภิปรายเรื่อง "ธุรกิจการเมืองกับบทบาทในพรรคการเมือง : โอกาสและผลกระทบต่อการเมืองไทย" ซึ่งจัดขึ้นโดยหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง คณะกรรมการการเลือกตั้ง

 

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงคำว่า " ธุรกิจการเมือง" ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการเมืองทั่วโลก โดยกลุ่มทุนจะหนุนหลังการก้าวสู่อำนาจของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งนี้คำว่าธรุกิจการเมืองเป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2540 ที่นักธุรกิจเริ่มหันผันตัวมาเล่นการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยมีการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง แต่จุดเริ่มต้นที่นักธุรกิจเริ่มเค้ามาเล่นการเมือง คือตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลา หลังจากหมดยุคการครองอำนาจของทหาร

 

คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นอีกว่ากฎหมายในการตรวจสอบการเอื้อประโยชน์ระหว่างภาคธุรกิจและภาคการเมืองเขียนไว้ดี แต่การตรวจสอบในเชิงปฏิบัติกลับไม่มีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานที่ตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ช. ยึดติดวิธีการทำงานแบบราชการและทำงานตามกรอบกฎหมาย จึงไม่เท่าทันนักธุรกิจ และเอาผิดธุรกิจการเมืองได้ยาก ดังนั้นองค์กรตรวจสอบต้องทำหน้าที่อย่างรวดเร็วและจริงจัง

 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เห็นว่า " ธุรกิจการเมือง " อาจหมายถึงนักการเมืองที่เข้าไปหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเป็นนักธุรกิจที่เข้ามาเล่นการเมืองก็ได้ ซึ่งนายอนุทินมองว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานักธุรกิจพยายามเข้ามาจัดตั้งพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองที่มีแต่นักธุรกิจด้วยกันเอง มักไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง เพราะงานการเมืองต้องอาศัยนักการเมืองและฐานการเมืองเป็นกำลังหลัก

 

ทั้งนี้ นายอนุทิน ยืนยันว่าการเข้ามาเล่นการเมืองของตนเองไม่ใช่เพราะต้องการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัวตัวเอง เนื่องจากภาคธุรกิจของไทยเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะเคยทำธุรกิจมาก่อน จึงเห็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในภาคธุรกิจที่ล้าหลัง แต่หลังจากการรัฐประหาร ในฐานะนักการเมืองที่มาจากภาคธุรกิจกลับถูก คตส. ดำเนินคดีโดยกล่าวหาว่ามีการฮั้วประมูลถึง 2 คดี ในรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงมีการตีกรอบควบคุมนักธุรกิจที่เข้าสู่ภาคการเมืองอย่างเต็มที่ โดยมีข้อจำกัดว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไม่สามารถถือหุ้นได้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog