ไม่พบผลการค้นหา
นักวิเคราะห์มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้จำนวนคนล้มละลายจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มากกว่าจำนวนคนที่ป่วยและตายจากโรคนี้

โอมาร์ ฮัสซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง UK: MENA Hub แหล่งรวมข้อมูลและความช่วยเหลือสำหรับบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้เขียนบทความวิเคราะห์ลงใน The Indepedent ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอันตรายต่อสาธารณะมากกว่าความเสี่ยงด้านสาธารณสุขด้วยซ้ำ ไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของเรา เช่น ทำให้เราไม่สามารถเดินทางออกไปทำงานได้ บังคับให้พนักงานต้องยอมหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจทำให้บริษัทต่างๆ ล้มละลาย

เงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่หายไปจากตลาดเงินทั่วโลกในสัปดาห์นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ พยุงเศรษฐกิจ

ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ 4,389 รายในวันนี้ (12 มี.ค.) แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมีอีกหลายล้านคน โดยเฉพาะเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสงครามน้ำมันระหว่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบีย และสงครามในซีเรียที่อาจทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยระลอกใหม่

การฉีดวัคซีนให้กับเศรษฐกิจท่ามกลางความตื่นตระหนกต่อโรคระบาดก็มีความสำคัญไม่แพ้การต่อสู้กับไวรัส เพราะความทุกข์ของมนุษย์เกิดได้จากทั้งความเจ็บป่วย ความตาย และการไม่มีเงินใช้จ่ายสิ่งสำหรับของจำเป็น หรือการสูญเสียบ้านไป

ธุรกิจขนาดเล็กกำลังลำบากมากเป็นพิเศษ เนื่องจากซัพพลายเชนขาดแคลน ทำให้พวกเขาไม่มีสินค้าหรือวัตถุดิบจำเป็นในการผลิตสินค้า การปิดโรงงานในจีนทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI ซึ่งเป็นตัวชีวัดผลิตภาพจากอุตสาหกรรมการผลิตต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยจีนเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตทั่วโลก ดังนั้น ปัญหาของจีนก็คือปัญหาของทุกคน

ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เกิดความกังวลว่า รัฐบาลจะมองเห็นแต่วิกฤตด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจด้วย ถึงเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์จะเข้ามากู้สถานการณ์ ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะแพร่ระบาดจนเกินควบคุมได้

ฮัสซันระบุว่า เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า เศรษฐกิจอิตาลี ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากมีคำสั่งปิดประเทศแล้ว และโควิด-19 จะกระทบต่อยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเข้มงวดเร่งด่วนมากกว่าที่เคยทำช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551

อย่างไรก็ตาม เดิมพันในครั้งนี้สูงกว่าวิกฤตการเงินคราวก่อน เพราะมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในประเทศตะวันตก รวมถึงนโยบายกีดกันการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

แม้จีนจะต้องรับมือกับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ที่เกิดจากโรคระบาด แต่จีนก็อาจได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงของสหรัฐฯ รวมถึงทำให้ทรัมป์หันไปแก้ไขปัญหาโควิด-19 แทนที่จะหันมาทำสงครามการค้ากับจีนต่อ

สงครามน้ำมันระหว่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบียก็ปะทุขึ้น ในระยะสั้น ทั้งรัสเซียและซาอุดีอาระเบียยังสามารถยอมเห็นราคาน้ำมันตกลงไปร้อยละ 30 ภายในข้ามคืนได้ แต่ธุรกิจน้ำมันของสหรัฐฯ ไม่สามารถรับได้ เพราะหากขั้นตอนขุดเจาะน้ำมันมีค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับราคาน้ำมันที่ต่ำลงเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ก็อาจนำไปสู่การปิดแท่นขุดเจาะน้ำมัน ทำให้คนตกงาน และอาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยอีก

แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะผลักดันให้มีการตัดลดภาษีเงินเดือนและช่วยพนักงานที่มีรายได้เป็นชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่รอด ส่วนอังกฤษก็มีการตั้ง “งบไวรัสโคโรนา” แต่ฮัสซันมองว่า ทุกประเทศควรหามาตรการที่จริงจังกว่านี้ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19

นอกจากนี้ สมดุลทางอำนาจระหว่างตะวันออกและตะวันตกก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์กลางการต่อสู้ทางอำนาจอยู่ที่ซีเรีย ความขัดแย้งที่อยู่บนสนามรบได้ยกระดับมาเป็นสงครามตัวแทนในความขัดแย้งทางเศรษฐกิจแล้ว

มหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีนมองว่า สหรัฐฯ ไม่มีความสำคัญใดๆ ในซีเรียแล้ว และโลกก็มีขั้วอำนาจมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้ซาอุดีอาระเบีย พันธมิตรของสหรัฐฯ เป็นผู้นำตลาดน้ำมันในกลุ่มโอเปก รัสเซียและจีนต้องการจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของตลาดโลกเสียใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อรัสเซียและจีนมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทำให้หลายประเทศจะต้องปกป้องธุรกิจของตัวเองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก และมองหาโอกาสในการได้รับประโยชน์จากขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ เพราะการละเลยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจเสียยิ่งกว่าโรคระบาด