ไม่พบผลการค้นหา
เจาะลึกพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท และมหายานในประเทศเนปาลในรอบกว่า 2500 ปี ซึ่งมีทั้งยุคที่รุ่งเรือง และเสื่อมสลาย อันเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

รายงานพิเศษ พุทธพลิกโลก ตอน 4 : ไทย- เนปาล เชื่อมสัมพันธ์ผ่านพุทธศาสนา

 

เจาะลึกพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท และมหายานในประเทศเนปาลในรอบกว่า 2500 ปี ซึ่งมีทั้งยุคที่รุ่งเรือง และเสื่อมสลาย  อันเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ประเทศไทย นับว่ามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยเฉพาะการจัดสร้างวัดไทย และส่งพระธรรมฑูตไปเผยแผ่ศาสนา เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ เนปาล ผ่านพุทธศาสนา

 

แม้ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของเนปาลจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ประเทศเนปาลมีความศรัทธาเรื่องพระพุทธเจ้ามานานแล้ว  มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จารึกพระนามของพระพุทธเจ้าหลายพระองค์  เช่นที่วัดสวยมภูนาถ มีรูปเคารพของพระพุทธเจ้าทีปังกร และพระพุทธเจ้าโคตมะปรากฏให้เห็นอยู่ วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนา และเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญของชาวพุทธ และชาวฮินดูตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันตกของเมืองกาฎมัณฐุ มีอายุกว่า 2500 ปี

 

ตัวองค์สถูปสวยมภูนาถ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นแบบฉบับของสถูปพุทธก่อสร้างตามหลักพุทธสถาปัตยกรรม แต่ละส่วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่

 

องค์สถูปครึ่งทรงกลมสีขาว เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ส่วนดวงตาที่อยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศ  แทนพระเนตรเห็นธรรมของพระพุทธองค์ที่คอยปกป้องผู้คนไม่ให้ทำชั่ว

 

ยอดฉัตรสีทอง 13 ชั้นเหนือองค์สถูป เป็นสัญลักษณ์แทนระดับธรรม 13 ขั้นก่อนบรรลุนิพพาน  ส่วนธงเล็กๆ หลากสีสัน ที่ปลิวไสวรอบองค์สถูป เป็นธงที่มีบทสวดอยู่บนผืนธง เป็นความเชื่อชาวพุทธฝ่ายมหายาน สายทิเบตว่า เมื่อลมพัดธงจะโบกสะบัด คำสวดมนต์จะลอยขึ้นสู่สรวงสวรรค์

 

พุทธศาสนาในเนปาลก็เช่นเดียวกับหลายประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ คือแตกออกเป็นหลายนิกาย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาแบบหินยาน หรือเถรวาท เข้ามาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชและสถิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง  ต่อมาช่วงราชวงศ์ลิจฉวี เป็นช่วงที่พุทธศาสนานิกายมหายานรุ่งเรืองมาก มีทั้งการเผยแพร่พระธรรมคำสอน งานพุทธศิลป์ ที่ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน 

 

นิกายเถรวาท เป็นนิกายหลักที่ได้รับการนับถือในศรีลังกา และประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย กัมพูชา ลาว และพม่า  นิกายเถรวาทเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 100ปี มีการประชุมคณะสงฆ์ สังคยาคำสอนครั้งที่ 2 แต่มีความเห็นต่างในหมู่สงฆ์ จึงแตกเป็น 2 นิกาย คือ เถรวาที และมหาสังฆิกะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมหายาน

 

นิกายเถรวาท หมายถึง คณะสงฆ์กลุ่มที่ยึดคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า ทั้งถ้อยคำ เนื้อความ และภาษาบาลี ที่สังคยานาอย่างเคร่งครัด

 

ส่วนนิกายมหายานเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 700 ปีนับถืออย่างกว้างขวางทั้งในอินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม จุดเด่นของนิกายนี้คือ แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีธรรมเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตไปสู่นิพพานเปรียบเสมือนการขนสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสาร แตกต่างจากเถรวาท  ที่มุ่งเน้นความหลุดพ้นเป็นอรหันต์สิ้นกิเลสเฉพาะตน

 

แม้พุทธนิกายทั้ง 2 จะมีความแตกต่างด้านแนวคิด แต่มีจุดร่วมที่แก่นแท้ของคำสอน ที่มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน  ดังที่หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ว่า เถรวาท และมหายาน เปรียบเหมือน 2 ปีกของพุทธศาสนา เถรวาทสร้างความมั่นคงด้วยพระธรรมวินัย ส่วนมหายานสร้างความแผ่ไพศาลให้พุทธศาสนา ดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืน

 

ยุคมืดของพุทธศาสนาในเนปาล คือ หลังคริสตวรรษที่ 14 เกิดการปฏิวัติสังคมเนปาล โดยบังคับให้มีการแบ่งชั้นวรรณะ และบังคับให้พระภิกษุในพุทธศาสนาต้องสึกออกไปจำนวนมาก ยุคต่อๆมา ยังมีการสั่งทำลายวัดวาอารามและคัมภีร์ของพุทธศาสนาด้วย มีการกีดกันทางศาสนา ห้ามออกบวช ทำให้นักบวชชาวเนปาลต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศใกล้เคียง

 

พุทธศาสนานิกายเถรวาทในเนปาล เพิ่งได้รับการฟื้นฟูเมื่อ 60 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นหลักสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนาแบบเถรวาท คือ ไทย  พม่า และศรีลังกา ประเทศไทยเป็นกำลังสำคัญในทางตรง คือการส่งพระพุทธรูป  พระไตรปิฎก และส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่ศาสนา มีการจัดสร้างวัดไทยหลายแห่ง นอกจากนั้นยังอุปถัมป์พระภิกษุสามเณรชาวเนปาล ศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย

 

แม้เนปาลจะมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะสถานที่พระประสูติแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ศาสนาพุทธก็หนีไม่พ้นกฎของไตรลักษณ์ หมายถึง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป พุทธศาสนาในเนปาลจึงมีทั้งยุครุ่งเรืองและเสื่อมสลาย

 

กว่า 2500 ปี พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุด แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือ พระธรรม ที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญสูงสุด เพื่อความสงบร่มเย็นของสังคม และสันติภาพที่ยังยืนของโลก

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog