ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ กรุงเทพมหนคร จ่ายค่าชดเชยให้เหยื่อในเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับทั้ง 12 ราย เป็นจำนวน ร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหายที่ยื่นฟ้อง ฐานละเลยไม่ดูแลตรวจสอบสถานบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเหยื่อต่างไม่พอใจในคำตัดสิน เพราะความประมาทและความไม่รับผิดชอบของกรุงเทพมหานครนั้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล
ความรู้สึกของบรรดาญาติและเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ หลังคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีที่ นางเอสเตอร์ เยียน เชน เลาพิกานน์ พร้อมพวกรวม 12 คน ฟ้อง กรุงเทพมหานคร ฐานละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมอาคารที่เปิดเป็นสถานบริการซานติก้าผับ ทั้งโครงสร้างของอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงและปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จนเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
โดยศาลสั่งให้กรุงเทพมหานคร ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้อง เป็นจำนวนเงินร้อยละ 20 ของมูลค่าที่ยื่นฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
แม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว แต่บรรดาเหยื่อและญาติ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ยังไม่ได้รับการเหลียวแลและดูแลด้านมนุษยธรรมจาก นายวิสุทธิ์ เสร็จสวัสดิ์ หรือ เสี่ยขาว ผู้บริหารซานติก้าผับ
เหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับ เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปี 2551 เข้าสู่ปี 2552 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 60 คนและบาดเจ็บจำนวนมาก และเหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้ถึงการละเลยหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่มาตรฐานความปลอดภัยของสถานบริการ ใบอนุญาตสถานบริการ เวลาปิดเปิดของสถานบริการ และศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาจำคุก นายวิสุทธิ์ ผู้บริหารซานติก้าผับ 3ปี โดยไม่รอลงอาญาและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่อ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 แต่นายวิสุทธิ์ ได้ยื่นอุทธรณ์
ซึ่งคำพิพากษายังยกให้เป็นคดีตัวอย่าง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยสถานบริการ และคำตัดสินนี้ กลายเป็นบรรทัดฐานให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเรียนรู้วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคแบบใหม่