ไม่พบผลการค้นหา
เรืออากาศโทธนเดช อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เผยในรอบ 11 ปีที่ผ่านมามีกรณีการเสียชีวิตในค่ายทหารแล้วอย่างน้อย 18 ศพ แต่ไม่มีครั้งไหนที่ผู้บังคับบัญชาออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง ย้ำหากไม่สร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบ การซ้อมทรมานในค่ายทหารก็จะเกิดขึ้นอีก

เรืออากาศโทธนเดช เพ็งสุข อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เขต ลาดพร้าว- วังทองหลาง แสดงความคิดเห็นผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ กล่าวถึงกรณี ทหารเกณฑ์ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหาร หลังถูกครูฝึกจับได้ว่าลักลอบสูบกัญชา โดยระบุว่า ในช่วงเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่าน ได้เห็นข่าวสองข่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทัพ แต่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ข่าวแรก เป็นเรื่องน่ายินดี แม้ว่ากองทัพจะไม่ได้ทำตามข้อเสนอของอดีตพรรคอนาคตใหม่เรื่องการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เพื่อเปลี่ยนไปเป็นการรับโดยสมัครใจทั้งหมดรวมถึงยังไม่ได้ปรับรูปแบบการฝึกและสวัสดิการต่างๆ เพื่อวางโครงสร้างของกองทัพใหม่ให้เป็นทหารอาชีพ แต่อย่างน้อยก็พอเห็นทิศทางที่ดี ที่ในที่สุดเสียงของพวกเราและเสียงของประชาชนก็ดังพอที่จะทำให้กองทัพต้องเลือกที่จะปรับตัวบ้าง ด้วยการเปิดรับสมัครพลทหารและเปิดโอกาสให้ ร้อยละ 80 สามารถเข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกได้ และถ้าใครเรียนดีอีก 20 คน ก็จะมีโอกาสเลื่อนขึ้นเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งการเริ่มต้นแบบนี้ มองว่าทำให้กองทัพมีโอกาสปรับตัวเป็นกองทัพทันสมัย มีทหารอาชีพมาประจำการได้ในอนาคต

แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดเรื่องการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา พลทหาร 2 นาย ถูกครูฝึกจับได้ว่าลักลอบสูบกัญชา ครูฝึกและผู้ช่วยจึงสั่งลงโทษด้วยการใช้ไม้ตีตามแขน ขา หลัง และก้นจนไม้หัก ให้แถกปลาหมอจนเนื้อตัวถลอกปอกเปิกไปหมด ซึ่งบาดแผลเหล่านี้ก็ยังเห็นได้ชัดสามารถหาดูภาพข่าวได้ไม่ยาก เขาเล่าว่าครูฝึกยังลากสายยางฉีดน้ำกรอกปากและยังพยายามจะทรมานอื่นๆ อีก โชคดีที่กรณีนี้ยังไม่ถึงขั้นเสียชีวิต เพราะทั้งสองคนหลบหนีออกมาแจ้งตำรวจเสียก่อน

เรืออากาศโทธนเดช ระบุต่อว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องตั้งคำถามต่อไปคือ ทำไมเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอมีเรื่องทีก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกันที แล้วก็ผ่านไปรอเหตุใหม่เกิดขึ้นอีก วนเวียนไปเรื่อยๆ โดยมองว่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นปัญหาของวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือกองทัพจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปเพื่อให้มีระบบดูแลตรวจสอบที่ชัดเจน มีช่องทางให้ผู้น้อยมีช่องทางที่สามารถร้องเรียนปัญหาหรือเอาผิดผู้บังคับบัญชาได้จริง ไม่ใช่แบบที่อดีต ผบ.ทบ.ท่านหนึ่งบอกให้ต่อสายตรงถึงได้ แต่พอทำจริงก็เกิดกรณีแบบ ‘หมู่อาร์ม’ เกิดขึ้น หรือต้องไม่ใช่การลงโทษแบบแค่ย้ายไปแขวนไว้รอกระแสลด แล้วย้ายกลับมาเมื่อเรื่องเงียบ เอาตัวอย่างง่ายๆ เห็นกันชัดๆ ก็เช่น กรณีเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ขนาดเป็นต้นเหตุของการระบาดโควิดคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี ย้ายไปไม่ทันข้ามปีก็ได้กลับมานั่งตำแหน่งเดิมแล้ว

"สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหานี้ได้จริงคือ ถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องสร้าง วัฒนธรรมความรับผิดชอบ ให้เกิดขึ้นให้ได้ครับ" เรืออากาศโทธนเดช ระบุ

นอกจากนี้เขาย้ำว่า ท่าทีของผู้นำเองก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหา แต่หลังกรณีนี้เกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ก็ยังคงพูดเหมือนทุกๆครั้ง เช่น ต้องมีการสอบสวน ใครผิดก็ต้องรับโทษ ได้เตือนไปหลายครั้งแล้วในเรื่องการลงโทษต้องพิจารณาให้เหมาะสมและเป็นไปตามระเบียบวินัยทหาร ซึ่งฟังดูมีเหตุผล แต่อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

"สำหรับทหารทั้งกองทัพแล้ว การพูดแบบนี้ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เพราะในความเป็นจริงองค์กรอย่างกองทัพตอนนี้พร้อมที่จะมีระบบหรือกลไกช่วยเหลือบุคคลระดับผู้บังคับบัญชาเต็มไปหมด ในขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชาแทบไม่มีอะไรคุ้มครองได้เลย อย่างกรณี 2 พลทหารนี้ เมื่อกระแสหมดลง กลับเข้ากรมกองเมื่อไหร่ ใครๆ ก็คงสามารถจินตนาการได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่หากไม่กลับไปก็จะกลายเป็นการหนีทหารไม่สามารถปลดประจำการได้ การที่ใครๆ ก็คิดแบบนี้ได้อย่างเป็นปกตินี่ก็คือความไม่ปกติอย่างหนึ่งเหมือนกัน" เรืออากาศโทธนเดช ระบุ

อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ แสดงตัวอย่างการแสดงความรับผิดชอบในกรณีใกล้เคียงกัน ในต่างประเทศด้วยว่า

ปี 2556 ที่ไต้หวัน เกา ฮัว-ฉู่ รัฐมนตรีกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง จากกรณีของ หง จ้ง-ชิ้ว ทหารยศสิบโท วัย 24 ปี เสียชีวิตจากอากาศเป็นลมแดด หลังจากถูกลงโทษอย่างรุนแรงและเกินกว่าเหตุ ขณะที่เหลือเพียงอีกสามวันก็จะปลดประจำการ ขณะที่ ประธานาธิบดีหม่า อิง จิ่ว ผู้นำไต้หวันในขณะนั้น ได้ออกมากล่าวขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีการดำเนินการสอบสวนและสั่งควบคุมตัวนายทหาร 4 นาย และลงโทษทหารที่เกี่ยวข้องอีก 26 นาย

ปี 2557 ประเทศเกาหลีใต้ พลทหารยูน เสียชีวิตจากการถูกกลั่นแกล้งรังแก เป็นปัญหาการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อทหารเกณฑ์ซึ่งเคยเรื้อรังมานานหลายปีเช่นเดียวกับเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้บัญชาการกองทัพบก ควอน โอ ซุง ได้ออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษต่อการเสียชีวิต รวมทั้งได้ยื่นใบลาออกระหว่างประชุมกับ ฮัน มิน คู รัฐมนตรีกลาโหม อีกด้วย

ขณะที่ประเทศไทยหากนับจากปี 2552-2563 พบว่ามี กรณีการตายปริศนาแบบนี้ เกิดขึ้นในค่ายทหารแล้วไม่น้อยกว่า 18 นาย แต่ไม่เคยการออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจังจากบุคลากรระดับผู้บังคับบัญชาแม้แต่กรณีีเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง