ย้อนชม รายงานพิเศษ 'ปิดตำนานแพะคดีเชอรี่ แอน คนสุดท้าย' คดีโศกนาฏกรรมที่ปมเหตุ เกิดจากความหึงหวงของความรัก 4 เศร้า ของ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ที่ได้รับรางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
Back Story ประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2555
คดีโศกนาฏกรรมที่ปมเหตุ เกิดจากความหึงหวงของความรัก 4 เศร้า เมื่อ 27 ปี ที่แล้ว ไม่เพียงแต่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ยังเกิดกระแส แพะรับปาก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมไทย เกิดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ กลับมาสร้างความสะเทือนใจอีกครั้ง เมื่อ แพะคนสุดท้าย เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นการปิดตำนานแพะในคดีเชอร์รี่แอน ติดตามในแบล็กสตอรี่
นางช่อทิพย์ พลอยกลุ่ม คู่ชีวิตคนที่ 2 ของนายกระแสร์ ถึงกลับร่ำไห้ เมื่อส่งร่างไร้วิญญาของนายกระแสร์ วัย 61 ปี เข้าสู่เตาเผา หลังเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อกลางดึกวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา นางช่อทิพย์ ใช้ชีวิตร่วมกับนายกระแสร์มาเกือบ 20 ปี หลังศาลฎีกาพิพากษาว่า เขาและพวกคือผู้บริสุทธิ์ ในคดีร่วมฆ่า นางสาวเชอร์ แอน ดันแคน สาวลูกครึ่งไทย - อเมริกัน วัย 16 ปี ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2529 ทั้งคู่ประกอบอาชีพขายน้ำพริกตามตลาดนัด และใช้ชีวิตอย่างสมถะเธอร่ำไห้ปานจะขาดใจเพราะสงสารสามีที่ชีวิตอาภัพ ถูกกล่าวหาโดยไม่มีความผิด ซ้ำร้ายระหว่างถูกจองจำ ภรรยาคนแรกตรอมใจตาย ลูกสาวถูกฆ่าข่มขืน และลูกชายหายตัวไปอย่างลึกลับ
นายกระแสร์ พร้อมพวกรวม 4 คน ประกอบด้วยนายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย หรือ ฮาว์ดี้ ซึ่งตรอมใจตายขณะถูกจองจำที่เรือนจำบางขวาง พร้อมกับบทกลอน แพะรับบาป สร้างความสะเทือนใจในเวลาต่อมา นายพิทักษ์ ค้าขาย เสียชีวิตด้วยโรคร้ายจากเรือนจำ หลังพ้นโทษเพียง 5 เดือน และ นายธวัช กิจประยูร เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตามหลังนายพิทักษ์ไม่นานวิบากกรรมของพวกเขา เกิดขึ้นหลังพบศพนางสาวเชอร์รี่ ไม่ถึง 1 เดือน และถูกตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการในขณะนั้น จับกุมในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น
ส่วนนายวินัย ชัยพานิช หรือเสี่ยแจ๊ค ตกเป็นจำเลยที่ 1 ฐานผู้จ้างวาน ตามคำให้การของนายประเมิน พลัดโพชน์ โชว์เฟอร์สามล้อ ซึ่งเป็นพยานปากเอกเพียงคนเดียว แต่นายวินัยโชคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนนายกระแสร์พร้อมพวกถูกสั่งฟ้อง และศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม 2536 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เท่ากับลบตราบาปที่พวกเขาไม่ก่อ แม้จะถูกจองจำในแดนประหารนานกว่า 7 ปี จนเป็นที่มาของคำว่า แพะรับบาป และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจอย่างรุ่นแรง
ขณะเดียวกัน ตำรวจกองกำกับการ 3 กองปราบปราม ที่นำโดยพันตำรวจเอกอดิศร จินตนะพัฒน์ พันตำรวจโทจตุรงค์ เนขขัมม์ พันตำรวจโทโชคดี อานุภาพเดชา และร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ พัฒนเจริญ ยศและตำแหน่งขณะนั้น ได้สืบสวนและสอบสวน จนสามารถทราบเบาะแสผู้ต้องหาก่อเหตุสังหาร เชอร์รี่แอน ตัวจริง หลังรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ที่ส่งตรงถึงพลตำรวจเอกเภา สารสิน อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น โดยทีมสืบสวน พบปมสังหารมาจากความรัก 4 เศร้าระหว่าง นายวินัย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นางสาวสุวิบูลย์ พัฒน์พงษ์พานิช หุ้นส่วนธุรกิจนายวินัย เชอร์รี่ แอน ผู้ตาย และนางสาวทิพย์วรรณ สุคันธวงศ์ สาวรับใช้ในบ้าน
โดยใช้วิธีสอบสวนซ้ำรอยตำรวจพื้นที่ จนพบว่า ทีมแพะรับบาป และผู้ต้องหาตัวจริง ล้วนเป็นลูกน้องในบริษัทของ นายวินัยและนางสาวสุวิบูลย์
ทีมสืบสวนกองปราบปราม ใช้เวลาเพียง 30 วันในการคลี่คลายคดีสังหาร เชอร์รี่แอน แต่ไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาตัวจริงได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมายและระเบียบในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากคดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ทำให้สำนวนกถูกพับเก็บทิ้งไว้นานเกือบ 8 ปี ต้นปี 2538 คดี เชอร์รี่แอน กลับมาเป็นข่าวดังอีกครั้ง เมื่อตำรวจกองปราบปราม จับกุมผู้ต้องหาตัวจริง ประกอบด้วย นางสาวสุวิบูลย์ ผู้จ้างวาน นายสมัคร ธูปบูชาการ นายสมใจและนายสมพงษ์ บุญญฤทธิ์ นายพีระ ว่องไววุฒิ โชว์เฟอร์แท็กซี่คันที่ก่อเหตุและทิ้งศพ เชอร์รี่แอน และนายประมวล พยานเท็จ
จากหลักฐานและพยานของตำรวจกองปราบปราม ระบุได้ว่า นางสาวสุวิบูลย์ หึงหวง เชอรี่แอน เมื่อสืบรู้ว่า นายวินัย มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง และส่งเสียเลี้ยงดูจนออกหน้า ด้วยความแค้น และริษยา จึงจ้างวานให้อุ้มไปฆ่า โดยไตร่ตรองและวางแผนไว้ก่อน จนกระทั่งวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 ศาลฎีกาพากษาจำคุกตลอดชีวิตมือสังหาร ส่วนนางสาวสุวิบูลย์ ศาลยกฟ้องเพราะเหตุแห่งความสงสัย วิบากกรรมของแพะรับบาปในคดีนี้ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา 2544 และเกิดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
คดีเชอรี่แอน ไม่เพียงโด่งดังจนนำมาสร้างเป็นภาพยนต์โศกนาฎกรรมความรัก ยังเป็นตำนาน แพะรับบาป และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงาน ทั้งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานใหม่ ของวงการยุติธรรมไทย