ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีนายกรัฐมนตรีเลบานอนหายตัวไปหลังเข้าเฝ้ากษัตริย์ซาอุดีฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งยังประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน
นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียนอกหมายกำหนดการ และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย โดยนายมาครงระบุว่า เป้าหมายของการเยือนซาอุดีอาระเบียโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า เพราะต้องการหารือกับเจ้าชายบิน ซัลมาน เกี่ยวกับปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มกบฎฮูทีในเยเมน ประเทศเพื่อนบ้านของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เจ้าชายบิน ซัลมาน ทรงรับผิดชอบดูแลตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสด้วยส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นายมาครงได้แถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่นายซาอัด อัล-ฮาริรี นายกรัฐมนตรีเลบานอน ประกาศลาออกจากตำแหน่งและหายตัวไปหลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนายมาครงระบุว่า เสถียรภาพของเลบานอนคือสิ่งสำคัญในตะวันออกกลาง และประชาชนเลบานอนมีสิทธิจะเรียกร้องความปลอดภัยแก่ผู้นำรัฐบาลของพวกเขา
(ซาอัด อัล-ฮาริรี เป็นลูกชายของนายราฟิก อัล-ฮาริรี อดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอนที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2005)
ท่าทีดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนแถลงการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเลบานอน ที่ออกมาเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายฮาริรีเช่นกัน เพราะจนถึงขณะนี้ นายฮาริรียังไม่ได้เดินทางกลับเลบานอน และไม่ยอมเปิดเผยให้คนในพรรคทราบว่าพำนักอยู่ที่ไหน โดยบอกเพียงแต่ว่า 'สบายดี' และไม่ได้ถูกทางการซาอุดีอาระเบียกักตัว
ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายนเป็นต้นมา เจ้าชายบิน ซัลมาน มีคำสั่งกวาดล้างขบวนการทุจริตในซาอุดีอาระเบีย แต่นักวิเคราะห์และองค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามรวบอำนาจจากกลุ่มอิทธิพลเดิม ก่อนที่เจ้าชายบิน ซัลมาน จะขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานในอนาคต เพราะมีการออกคำสั่งจับกุมเชื้อพระวงศ์ นักธุรกิจ และบุคคลสำคัญกว่า 200 รายทั่วประเทศ โดยไม่มีการชี้มูลความผิดหรือไต่สวนข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก่อนจับกุม
(โรงแรมริตซ์-คาร์ลตันในกรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย เป็นหนึ่งในสถานที่ควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริต)
ส่วนในกรณีของนายฮาริรี เป็นลูกชายอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก ฮาริรี ซึ่งถูกลอบสังหารในกรุงเบรุตของเลบานอนเมื่อปี 2005 และเป็นบุคคลที่มี 2 สัญชาติ ได้แก่ เลบานอนและซาอุดีอาระเบีย ทั้งยังมีภรรยา ลูกชาย และกิจการจำนวนหนึ่งอยู่ในซาอุดีอาระเบียด้วย ทำให้เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลระหว่างประเทศ และที่ผ่านมา นายฮารีรีเป็นตัวกลางที่สำคัญในการคานอำนาจระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ซึ่งพยายามแย่งชิงการเป็นประเทศผู้นำในตะวันออกกลาง เนื่องจากเขาเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนีและมีความใกล้ชิดกับซาอุดีอาระเบีย ขณะเดียวกันก็สามารถร่วมงานกับกลุ่มติดอาวุธฮิซบัลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่านได้
เมื่อนายฮาริรีเดินทางเข้าเฝ้ากษัตริย์ซาอุดีอาระเบียเมื่อสัปดาห์ก่อน เขากลับแถลงลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน ทั้งยังประณามกลุ่มฮิซบัลเลาะห์และรัฐบาลอิหร่านทันที สมาชิกพรรคฟิวเจอร์มูฟเมนท์ของนายฮาริรีจึงเชื่อว่า การกระทำดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะเขาถูกบังคับให้ทำอย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: