เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ถูกคุมตัวในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในจังหวัดสงขลานานเกือบ 3 ปี และเสียชีวิตเมื่อต้นเดือน พ.ย. ทำให้องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฟอร์ติไฟไรท์' ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2017 ระบุว่า ไซนับ บีบี วัยรุ่นหญิงอายุ 16 ปี ชาวโรฮิงญา เสียชีวิตในห้องกักของ ตม.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากรเลือดออกในสมอง ฟอร์ติไฟไรท์จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทันที
แถลงการณ์ของฟอร์ติไฟไรท์ระบุว่า ไซนับถูกขบวนการค้ามนุษย์นำตัวจากเมียนมาเข้ามายังประเทศไทยในปี 2014 และในตอนแรกถูกควบคุมตัวโดยหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนจะถูกส่งตัวมายังห้องกักของ ตม.สะเดาในปี 2015 โดยไซนับเป็นผู้มีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และพบประวัติว่าเธอเคยถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลาหลายครั้งระหว่างที่อยู่ในห้องกัก จนกระทั่งวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ไซนับล้มป่วยด้วยอาการเลือดออกจมูกและหู และเสียชีวิตในที่สุด
กรณีของไซนับไม่ใช่การเสียชีวิตครั้งแรกที่เกิดขึ้นในห้องกักของ ตม. เพราะนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในห้องกักอย่างน้อย 3 ราย โดยรายหนึ่งที่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ ตม.สวนพลู คือ ผู้ยื่นขอลี้ภัยชายชาวปากีสถานซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ
นับตั้งแต่ปี 2015 รัฐบาลไทยประกาศนโยบายปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง หลังพบหลุมศพชาวโรฮิงญาจำนวนมากบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ครั้งนี้มีทั้งบุคคลทั่วไป ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจในท้องถิ่น ทั้งยังมีการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังมีชาวโรฮิงญาอีกเป็นจำนวนมากถูกคุมตัวในห้องกักของ ตม. เพื่อรอการดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ได้เป็นประเทศภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ทำให้ต้องดำเนินเรื่องส่งตัวผู้ลี้ภัยทั้งหมดกลับไปประเทศต้นทาง แต่กระบวนการดังกล่าวล่าช้า เพราะการพิสูจน์หลักฐานทำได้ยาก เนื่องจากชาวโรฮิงญาหลายคนไม่มีสัญชาติ จึงต้องถูกกักตัวในห้องกักของ ตม.
รายงานของฟอร์ติไฟไรท์เมื่อปี 2016 ระบุว่าชาวโรฮิงญา 16 คนถูกคุมตัวอยู่ที่ห้องกัก ตม.สะเดา เป็นหญิง 7 คน และชาย 9 คน ทั้งหมดถูกควบคุมให้อยู่ในห้องกักตลอด 24 ชม. แต่ห้องกักมีขนาดเล็ก ทำให้สภาพความเป็นอยู่แออัด ไม่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย ขาดแคลนอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงยาและเครื่องมือทางการแพทย์ จึงไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เป็นเยาวชน ทางการไทยจะต้องปรับปรุงมาตรการห้องกักให้ดีขึ้น เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
วอยซ์ทีวีได้ติดต่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสงขลา แต่ไม่ได้รับคำยืนยันว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: