ไม่พบผลการค้นหา
กสม.ลงพื้นที่จ.สมุทรสงคราม หารือร่วมผวจ.-เกษตรกร กรณีเรื่องร้องเรียนปลาหมอสีคางดำระบาดทำสัตว์น้ำอื่นสูญหาย

กสม.ลงพื้นที่จ.สมุทรสงคราม หารือร่วมผวจ.-เกษตรกร กรณีเรื่องร้องเรียนปลาหมอสีคางดำระบาดทำสัตว์น้ำอื่นสูญหาย

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำซึ่งเป็นปลาต่างถิ่นจากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งโดยการอนุญาตของกรมประมงได้นำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของพันธุ์ของปลาชนิดดังกล่าวรุกรานปลาพื้นถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2555

โดยในช่วงเช้า นางเตือนใจ ดีเทศน์ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ ได้เดินทางไปยังฟาร์มทดลองยี่สาร (ปลา) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ณ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยได้รับฟังข้อมูลและคำชี้แจงจากผู้แทนบริษัทฯ กรณีการสั่งนำเข้าปลาหมอสีคางดำจากประเทศกานาเมื่อปี 2553 

ภายหลังการประชุม นางเตือนใจ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ชี้แจงข้อมูลว่าได้ดำเนินการนำเข้าปลาชนิดดังกล่าวถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมายโดยการอนุญาตของกรมประมง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์ปลาหมอให้ทนทานต่อโรคระบาดที่มักเกิดในไทย แต่การพัฒนาพันธุ์ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากปลาจำนวนมากอ่อนแอและตาย บริษัทฯ จึงได้ทำลายปลาชุดนั้นทั้งหมดโดยการฝังกลบและโรยปูนขาวอย่างถูกต้องตามกระบวนการทำลาย อย่างไรก็ดีพบว่าเกิดข้อบกพร่องบางประการขึ้นเนื่องจากการทำลายในครั้งนั้นไม่ได้รายงานการทำลายปลาอย่างเป็นทางการต่อกรมประมง ขณะที่กรมประมงก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการแพร่ระบาดของปลาพันธุ์ดังกล่าวในพื้นที่อื่นนอกบริเวณนี้ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่มีผู้ลักลอบนำปลาไปปล่อยด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในการหามาตรการแก้ไขปัญหาตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGP) ต่อไป

หลังจากนั้น นางเตือนใจและคณะ ได้ลงพื้นที่สำรวจลำน้ำที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ณ ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ โดยนายปัญญา โตกทอง เครือข่ายผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดสมุทรสงคราม ตัวแทนผู้ร้องเรียน ให้ข้อมูลว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเริ่มส่งผลกระทบราวปี 2555 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่อำเภออัมพวาและอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งนี้เนื่องจากปลาชนิดดังกล่าวเป็นสัตว์กินเนื้อ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืด ทำให้กุ้งและปลาชนิดอื่นที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ถูกกินและสูญหายไปจำนวนมาก ขณะที่ปลาหมอสีคางดำไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเนื้อน้อย กระดูกใหญ่ ไม่สามารถเลี้ยงขายได้ราคา ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำมาหากินของเกษตรกรอย่างมาก โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลโดยกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่น อนุญาตให้เกษตรกรใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ผิดกฎหมายทำลายปลาชนิดดังกล่าวได้เป็นกรณีพิเศษ และรับซื้อปลาชนิดดังกล่าวในราคาสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างไรก็ดีต้องการให้มีผู้รับผิดชอบต่อการแพร่พันธุ์ปลาดังกล่าวในประเทศไทยด้วย

ช่วงบ่าย นางเตือนใจและคณะ ได้เข้าหารือกับนายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว โดยได้เสนอให้มีการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัดของทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนายคันฉัตร ยืนยันจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอต่ออธิบดีกรมประมงเพื่อให้เกิดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

นางเตือนใจ กล่าวปิดท้ายว่า กสม. จะติดตามการประสานงานแก้ไขปัญหา และจะรวบรวมข้อเท็จจริงของทุกฝ่ายเพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog