นักวิชาการชี้ 6 คำถามนายกฯ เป็นการตอบโต้ฝ่ายการเมือง สะท้อนความไม่มั่นใจของ คสช. และเป็นการพลิกบทบาทจากคนกลางลงสู่สนามการเมือง พร้อมแนะคำถามที่ควรถามแก่นายกรัฐมนตรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2535 วิเคราะห์ 6 คำถามของนายกรัฐมนตรี ในมุมการเมือง มองเป็นการโยนหินถามทางเพื่อจัดตั้งพรรคทหาร หรือสนับสนุนพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับ คสช. พร้อมชี้ว่า สถานการณ์นี้ กำลังเป็นการแข่งขัน ระหว่างการเมืองในระบบการเลือกตั้ง และการเมืองที่มาจากการปฏิวัติ
สอดคล้องกับ รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า นี่เป็นการโต้กลับฝ่ายการเมือง หลังถูกกดดันให้ปลดล็อคพรรค ขณะเดียวกัน คสช.ก็พลิกบทบาทลงมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายการเมือง
ส่วนอาจารย์ โคทม อารียา อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ 6 คำถามของนายกรัฐมนตรี เป็นคำถามที่ตอกย้ำว่า คสช.มีอำนาจ ควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่จะสานต่องานของ คสช. ซึ่งการตั้งคำถามดังกล่าวมองว่าเป็นสิ่งที่มีคำตอบอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว จึงมองว่าไม่มีประโยชน์ ในการตั้งคำถามทั้ง 6 ข้อนี้