ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เผยไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดโรคพยาธิมาจากหนอนตัวแบนนิวกินี ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก พร้อมแนะรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัยโดยเน้นสุก ร้อน สะอาด

กรมควบคุมโรค เผยไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดโรคพยาธิมาจากหนอนตัวแบนนิวกินี ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก พร้อมแนะรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัยโดยเน้นสุก ร้อน สะอาด


นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการพบหนอนตัวแบนนิวกินีในประเทศไทย นั้น ที่ผ่านมาในอดีตถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยทางปรสิตวิทยาที่รายงานว่าหนอนตัวแบนนิวกินีเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคไข้ปวดหัวหอย หรือพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง ที่ก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน ซึ่งในเรื่องนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีรายงานพบพยาธิที่สามารถก่อโรคในคนได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยติดโรคพยาธิปอดหนูที่มีพาหะแพร่โรคมาจากหนอนตัวแบนชนิดนี้  ส่วนที่มีรายงานคือติดโรคจากการกินหอยสุกๆ ดิบๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ให้ระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร ขอให้ถูกสุขอนามัย โดยเน้นสุก ร้อน สะอาด โดยหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ปรุงไม่สุกด้วยความร้อน รวมถึงล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหอยทากคลานผ่านก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักที่ลวกหรือต้มสุกแล้วเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่  

สำหรับพาหะแพร่เชื้อโรคไข้ปวดหัวหอยหรือพยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่งในธรรมชาติ ได้แก่ หอยต่างๆ เช่น หอยบก หอยน้ำจืด (หอยโข่ง หอยเชอรี่ หอยขม) และทาก เป็นต้น  เมื่อคนกินหอยดิบ ก็สามารถมีตัวอ่อนระยะติดต่อได้ รวมถึงในผักและพืชผักต่างๆ ที่หอยทากคลานผ่านก็มีโอกาสปนเปื้อนตัวอ่อนและเป็นแหล่งแพร่โรคได้เช่นกัน  ทั้งนี้ โรคไข้ปวดหัวหอยหรือพยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่ง ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน คนติดโรคพยาธินี้ได้โดยรับตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ จากการกินหอยดิบ  ในประเทศไทยส่วนมากเกิดจากการกินหอยโข่งดิบ หอยเชอรี่ดิบ และหอยทาก โดยนำเนื้อหอยเหล่านี้ไปปรุงเป็นลาบดิบ หรือปนเปื้อนในดินติดไปกับผัก เช่น ผักกาดสด คนกินกับอาหารประเภทยำ ลาบ เป็นต้น  เนื่องจากพยาธิปอดหนู เป็นพยาธิของหนู คนติดโรคโดยบังเอิญ จากการกินตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้เข้าไป และไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรเป็นตัวเต็มวัยในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ตัวอ่อนพยาธิจะไปอาศัยอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของผู้ติดโรค ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง  ซึ่งผู้ป่วยที่ติดโรคจะปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้  อาเจียน คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ  แต่ถ้ามีการติดโรคอย่างรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Nonn Panitvong

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog