1 ปีหลังรัฐบาลของพันเอกกัดดาฟีถูกโค่นล้ม ภรรยาและลูกๆของกัดดาฟี จะมีชะตากรรมเช่นไรกันบ้าง
ในช่วงเวลาที่รัฐบาลของพันเอกกัดดาฟีถูกโค่นล้ม บุคคลใกล้ชิดของเขาหลายคนถูกสังหาร รวมถึงบุตรชาย 3 คนของอดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย ไปดูกันว่า 1 ปีหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ภรรยาและลูกๆของกัดดาฟี จะมีชะตากรรมเช่นไรกันบ้าง
เป็นธรรมดาที่หลังจากผู้นำประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการถูกโค่นล้ม บุคคลใกล้ชิดและผู้ที่เคยรับตำแหน่งในรัฐบาลดังกล่าว ก็จะถูกถอนรากถอนโคนตามไปด้วย และบ่อยครั้งการกวาดล้างจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเหี้ยมโหดเป็นเวลาหลายปี
ชะตากรรมของคนใกล้ชิดพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการแห่งลิเบียก็เป็นไปในลักษะเดียวกัน ทันที่ที่เขาถูกกองกำลังฝ่ายต่อต้านโค่นล้ม พันเอกกัดดาฟีก็ถูกตามล่าสังหาร พร้อมทั้งคนสนิทและบุคคลในรัฐบาลจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงบุตรชายของเขา 3 คน ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพและรัฐบาลด้วย
และถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 1 ปีหลังจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ดังกล่าว ชะตากรรมของครอบครัวกัดดาฟีที่เหลือก็ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย
บุคคลที่ดูเหมือนจะมีชีวิตที่ดีที่สุดหลังการลงจากอำนาจของพันเอกกัดดาฟี ก็คือนายซาฟิยา กัดดาฟี ภรรยาคนที่สองของเขา โดยเธอและบุตรสาว รวมทั้งบุตรชายอันเกิดจากภรรยานแรกขอกพันเอกกัดดาฟี สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลแอลจีเรีย และอพยพไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักส่วนตัวชานกรุงแอลเจอร์ เมืองหลวงของแอลจีเรียได้ ถึงแม้ว่าทั้งสามจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล และห้ามมีการเผยแพร่หรือความเห็นทางการเมือง ตลอดจนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในของลิเบียอย่างเด็ดขาดก็ตาม
ส่วนบุตรชายคนโตของพันเอกกัดดาฟี นายมูฮัมหมัด กัดดาฟี ก็รอดพ้นจากการตามล่าจากรัฐบาลใหม่ของลิเบียเช่นเดียวกัน โดยเขาเองก็ได้สถานะผู้ลี้ภัยในแอลจีเรีย เนื่องจากฝ่ายต่อต้านไม่ถือว่านายมูฮัมหมัดมีบทบาทในการกวาดล้างการลุกฮือของประชาชนขึ้นต่อต้านผู้เป็นบิดา โดยเขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานในบริษัทด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารดาวเทียมของลิเบีย รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศ ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งที่ไม่มีบทบาททางการเมือง
ในทางตรงกันข้าม นายซาอิฟ อัล-อิสลาม บุตรชายอีกคนของพันเอกกัดดาฟี ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษ ถูกจับหลังจากการเสียชีวิตของผู้เป็นบิดาเพียง 1 เดือน เขาถูกตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการปราบปรามประชาชนในช่วงการปฏิวัติลิเบีย ขณะที่ศาลลิเบียก็ต้องการนำตัวเขามาพิจารณาคดีในประเทศเช่นกัน ซึ่งล่าสุด ดูเหมือนว่าทางการลิเบียจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ โดยเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศเพื่อรอการสอบสวน ซึ่งยังคงไม่กำหนดวันอย่างเป็นทางการ
ทายาทอีกคนของพันเอกกัดดาฟี ที่ยังคงมีบทบาทอย่างสูงหลังการเสียชีวิตของบิดา ก็คือไอชา กัดดาฟี บุตรสาวคนโตของอดีตผู้นำลิเบีย ซึ่งลี้ภัยอยู่ในแอลจีเรียกับนางซาฟิยา มารดาของเธอ โดยถึงแม้ว่าไอชาและแม่จะถูกควบคุมจากรัฐบาลแอลจีเรียอย่างเข้มงวด แต่เธอก็ยังพยายามมีบทบาทผ่านการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย ในการปลุกระดมให้ประชาชนในลิเบียลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลลิเบียชุดใหม่
นอกจากนี้ ไอชายังได้ว่าจ้างทนายความชาวอิสราเอล ให้ฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของบิดาของเธออีกด้วย