อดีตประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน ที่3 ถูกฟ้องคดีอาญาย้อนหลัง สืบเนื่องจากการออกคำสั่งปราบกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเมืองมามาซาปาโนเมื่อปี 2015 ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวนมาก
ผู้ตรวจการแผ่นดินของฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาพิจารณาคดีทุจริตและการฉ้อราษฎร์บังหลวง วันนี้ (8 พฤศจิกายน) เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายเบนิกโน อากีโน ที่3 หรือ 'นอยนอย' อดีตประธานาธิบดี ในข้อหายึดอำนาจตำรวจและทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยเป็นการดำเนินคดีย้อนหลังไปในสมัยที่นายอากีโนยังดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2015
คำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่านายอากีโนออกคำสั่งให้นายตำรวจระดับสูงซึ่งถูกสั่งพักงาน เป็นผู้นำปฏิบัติการจู่โจมกลุ่มติดอาวุธอิสลามโมโร (MILF) ในเมืองมามาซาปาโน จังหวัดมากินดาเนา เพื่อจับกุมตัวมือระเบิด 2 ราย ซึ่งถือเป็นการยึดอำนาจจากผู้บัญชาการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น และปฏิบัติการดังกล่าวยังล้มเหลว เพราะทำให้พลเรือนเสียชีวิต 3 ราย และเจ้าหน้าที่หน่วยจู่โจมเสียชีวิตถึง 44 นาย ขณะที่ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 18 ราย ถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อรัฐ
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2015 และสื่อฟิลิปปินส์เรียกว่า 'เหตุปะทะมามาซาปาโน' และญาติของเจ้าหน้าที่ซึ่งเสียชีวิตได้ร่วมกันฟ้องร้องนายอากีโนในข้อหาออกคำสั่งโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต รวม 44 กระทง แต่ศาลไม่รับฟ้อง และนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน มีคำสั่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติม จนนำไปสู่การฟ้องร้องนายอากีโนในวันนี้
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ศาลอาญาฯ จะพิจารณาสำนวนฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน หากเห็นว่ามีมูลความผิดจริงก็จะอนุมัติออกหมายจับนายอากีโน แต่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตไม่พอใจนัก เพราะทั้งสองข้อกล่าวหาสามารถประกันตัวได้ในวงเงิน 40,000 เปโซ (ประมาณ 28,500 บาท)
นายอากีโนเป็นอดีตผู้นำที่มีภาพลักษณ์ดี ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีความมุ่งมั่นในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เหตุปะทะที่มามาซาปาโน ทำให้คะแนนนิยมและความไว้วางใจในรัฐบาลนายอากีโนตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากต่อต้านร่างกฎหมายว่าด้วยการปกครองตนเองที่นายอากีโนพยายามผลักดันให้มีผลบังคับใช้เพื่อยุติความขัดแย้งกับกลุ่ม MILF
ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกระงับไปชั่วคราว หลังจากนายอากีโนถูกสอบสวนและตั้งข้อหาอกคำสั่งโดยประมาท แต่นายดูแตร์เตผลักดันให้นำกลับมาพิจารณาใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าอาจต้องทบทวนเงื่อนไขในการปกครองตนเองบางส่วน แต่จะดำเนินการต่อไปจนบรรลุเป้าหมายในการเจรจาสันติภาพ
เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: