กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (8 พ.ย. 2560) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz (890-895 MHz/935-940 MHz) และย่าน 1800 MHz (1740-1785 MHz/1835-1880 MHz) ของสำนักงาน กสทช.ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม และให้นำร่างประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งข้อสังเกตต่างๆ ของกรรมการ กสทช. นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยมีเงื่อนไขถ้ามีการออกประกาศสรรหา กสทช. ออกมาให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามบทเฉพาะกาลมีอำนาจในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งตามแผนคาดว่าน่าจะประกาศหลักเกณฑ์การประมูลได้ในเดือน ม.ค. 2561 และน่าจะเปิดให้มีการประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2561 ซึ่งคาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ในเดือน มิ.ย. 2561
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ ( 1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 76 ล้านบาท
กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย ก็จะเปิดให้มีการประมูล กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง
การชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด ดังนี้
- งวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
- งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
- งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
- งวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ทั้งนี้ สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 80% ภายใน 8 ปี และต้องมีการจัดเก็บข้อมูลและลงทะเบียนผู้ใช้บริการ รวมถึงดูแลคุณภาพสัญญาณให้ได้มาตรฐานตามที่ กสทช. กำหนด
กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนรับอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล ซึ่งคิดเป็นเงิน 5% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมทั้งคิดค่าปรับในอัตรา 15% ของราคาขั้นต่ำ
นาย ฐากร กล่าวว่า ในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ชุดละ15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 75 ล้านบาท
กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 3 ราย จะประมูล 3 ชุดคลื่นความถี่ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 2-3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลเท่ากับ N-1 ชุด โดย N=ผู้เข้าร่วมการประมูล นั่นคือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 2 ชุด และถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 2 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 1 ชุด ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง
สำหรับการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด ดังนี้
- งวดที่ 1 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 50% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
- งวดที่ 2 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
- งวดที่ 3 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ทั้งนี้ สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 40% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 8 ปี ในส่วนของอัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพ็คเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ และจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยให้ครอบคลุมถึงการจัดการขยะอิเล็คทรอนิกส์ สุขภาพของผู้ใช้บริการ
กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนรับอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล ซึ่งคิดเป็นเงิน 5% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมทั้งคิดค่าปรับในอัตรา 15% ของราคาขั้นต่ำ
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ 920-925 MHz จำนวน 3 ฉบับ เพื่อรองรับการใช้งานในลักษณะ Internet of Things (IoT) ได้แก่ 1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 MHz 2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภท Radio Frequency Identification: RFID และ 3. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ใช่ประเภท Radio Frequency Identification: RFID ซึ่งใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 MHz และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้