ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับหมอมิ้ง - พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ผู้วางนโยบายฝ่ายก้าวหน้า

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นผลพวงของการปฏิรูปการเมืองเมื่อปลายทศวรรษ 2530 แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอายุสั้น แต่มันได้ทิ้งมรดกทางความคิดให้กับประชาชนไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดอำนาจรัฐ  การเพิ่มอำนาจประชาชน  การมีส่วนร่วมของประชาชน  การสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุล  รวมถึงการคำนึงถึงคุณภาพชีวิต และสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ทว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ได้มีแต่ด้านดี รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ก็เช่นเดียวกัน ระยะหลัง ๆ มีการถอดบทเรียนไว้หลายเรื่อง เช่น ทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ประชาชนมีตัวเลือกน้อยลง การเข้ามามีอำนาจของเอ็นจีโอ และการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองขององค์กรอิสระที่ยังเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามผลจากการปฏิรูปการเมืองในครั้งนั้น ทำให้การเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2544 ส่งให้ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยที่ทำให้พรรคการเมืองหันมาใส่ใจกับการสร้างนโยบาย และทำให้ประชาชนหันมาสนใจนโยบายของแต่ละพรรค ชายผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายที่ส่งให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง คือ หมอมิ้ง - พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ว่ากันว่า หมอมิ้ง เป็นผู้ที่หยิบเอาไอเดียมาปั้นเป็นรูปเป็นร่าง หลาย ๆ นโยบายหากพูดชื่อขึ้นมาหลายคนคงจะคุ้นหู เช่น พักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ SMEs หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น

เบื้องหลังความคิดของนโยบายเหล่านั้นมาจากไหน Voice TV ชวนหมอมิ้งมาคุยถึงหลักคิดผ่านหนังสือที่หมอมิ้งได้อ่าน สาบานได้ว่าบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้จะมีแต่เรื่องหนังสือ จริงจริ๊ง (เสียงสูง)

 

ว่าด้วย 14 ตุลา

“ตั้งแต่เด็ก ผมไม่ได้เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ นอกจากตำราเรียนแล้ว ผมไม่ค่อยได้อ่านอะไรหรอก” หมอมิ้งออกตัว 

เขาเล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นช่วงปลดเปลื้องความคิดของปัญญาชน ขณะนั้นเขาเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

“เรามาเข้าใจทีหลังว่า เราถูกจำกัดให้คิดอยู่ในกรอบที่เขาเลือกให้เราสนใจ” เขานึกย้อนกลับไป

“ผมชอบคุยนะ ตอนนั้นผมคุยกับเพื่อนจากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์  เราแชร์ความคิดกัน จุฬาฯ มีระบบโซตัส พอสังคมไทยมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น จุฬาฯ ก็กลายเป็นที่ที่สู้กันแรงระหว่างโซตัสและแอนตี้โซตัส เพื่อนผมที่ธรรมศาสตร์ตอนนั้นจะลิเบอรัลหน่อย ผมเลยรู้สึกว่าการเรียนของผมไม่สนุกเลย มีแต่พวกเคร่งขรึม (หัวเราะ)”

14 ตุลา ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้นักศึกษาในยุคนั้น หนังสือที่เคยอยู่ในที่ลับเริ่มหลั่งไหลออกมา 

 

 

ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ของทีปกร ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่ในนั้นเป็นบทความที่เขียนขึ้นช่วง 2500 ที่นำเสนอหลักคิดและสะท้อนสภาพสังคมอย่างจะแจ้ง วิจารณ์ปัญหาสังคมและระบบรัฐ ผมได้แนวคิดจากเล่มนี้มาก มันกลายเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่ผมอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ”

โจนาธาน ลิฟวิงตัน เป็นเรื่องนกนางนวล ผมอ่านไม่รู้เรื่องเลย(หัวเราะ) แต่ประทับใจเรื่องเสรีภาพและการเรียนรู้ ว่าอย่าเย่อหยิ่ง ปัญญาเกิดขึ้นได้จากการถ่อมตน และความรู้สึกที่ว่าเรารู้ได้ไม่หมด มันผลักให้เราเรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ”

 

 

ช่วงนั้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีจัดนิทรรศการ หมอมิ้งและเพื่อน ๆ มักชวนกันไปเที่ยว หมอเล่าว่ามีนิทรรศการหมุนเวียนกันทุกสัปดาห์ จนธรรมศาสตร์กลายเป็นแหล่งที่เขาและเพื่อน ๆ ไปใช้ชีวิตในวันหยุด ตอนนั้นมีนิทรรศการที่เปิดโลกความคิดหลายอย่าง เช่น นิทรรศการเสรีนิยมที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม นิทรรศการเปิดโลกสังคมนิยม นิทรรศการจีนแดง นิทรรศการจิตร ภูมิศักดิ์ 

“ผมเริ่มรู้จัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผมเริ่มรู้จักเสนีย์ เสาวพงศ์ จาก ปีศาจ ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้าม ผมรู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ เขาเป็นปัญญาชนที่ถูกโยนบกสมัยเรียน ออกมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ ติดคุก 7 ปี สุดท้ายเข้าป่า ออกมาถูกยิงตาย คนเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผมจึงเกิดคำถามว่า คอมมิวนิสต์คืออะไร สังคมนิยมคืออะไร คนพวกนี้ต่อสู้กับอะไร เพราะเมื่อก่อนเรารู้แค่ว่า คอมมิวนิสต์เป็นปีศาจ”

 

 

“มีหนังสือต้องห้ามอีกเล่ม ชื่อ นิติศาสตร์ 2500 หรือ อีกชื่อหนึ่ง โฉมหน้าศักดินาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500 ก่อนตีพิมพ์ครั้งที่สองในปี พ.ศ.2517 ในนั้นมีบทความชิ้นหนึ่งชื่อ ผู้หญิง ผู้หญิง ผู้หญิง คนเขียนใช้นามปากกา สมสมัย ศรีศูทรพรรณ เขียนถึง สิทธิสตรีอย่างคมคาย ภายหลังมารู้ว่า ทีปกร จิตร ภูมิศักดิ์ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ คือ คน ๆ เดียวกัน ผมก็ยิ่งรู้สึกชื่นชมในหลักคิดของเขา”

 

 

ว่าด้วยปรัชญา

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 มีเรียนวิชาปรัชญา ผมงง เรียนอยู่สองเทอม จับหลักอะไรไม่ได้เลย จนมีคนแนะนำให้อ่าน ปรัชญาชาวบ้าน เขียนโดย ศักดิ์ สุริยะ เป็นหนังสือใต้ดินของกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อนหน้านั้นแจกอยู่ในหมู่กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน เนื้อหาในหนังสือนำเสนอทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน ผมเองไม่ได้สนใจว่าจะเป็นของคอมมิวนิสต์หรืออะไร ผมสนใจแค่หลักคิด”

 

 

ปรัชญาชาวบ้าน นอกจากทำให้เขาเข้าใจปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีว่าเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้กับประเด็นทางสังคมแล้ว ยังทำให้หมอมิ้งได้เรียนรู้การใช้เหตุใช้ผล เรียนรู้เรื่องความขัดแย้ง และเข้าใจจุดยืนของคนในสังคม

“อย่างเวลามีดีเบตกัน แค่การให้เหตุผลอย่างเดียวยังไม่พอ คุณต้องรู้จุดยืนเขาด้วย ว่ายืนอยู่บนผลประโยชน์ของใคร เพราะหลายครั้งคุณยืนอยู่คนละข้าง เช่น เวลาคุณพูดถึงประชาชน คุณต้องบอกได้ว่าคุณหมายถึงประชาชนกลุ่มไหน การรู้จุดยืน มันทำให้คุณมองคนอื่น ๆ อย่างเข้าใจ แล้วคุณจะให้โอกาสเขา เข้าหาด้านดีของเขา กลับกัน ถ้าคนรังเกียจกัน ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น สังคมทุกวันนี้ปลุกเร้าความเกลียดชัง ไม่มีทางปรองดองกันได้เลย เพราะเน้นแต่ความแตกต่าง”

สรรนิพนธ์ว่าด้วยความขัดแย้ง ของ เหมา เจ๋อตุง เป็นอีกเล่มที่หมอใช้ในการทำความเข้าใจสังคม หลักของสรรนิพนธ์ว่าด้วย หนึ่ง สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง สอง สรรพสิ่งล้วนมีสองด้านที่ขัดแย้งกัน สาม สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน ซึ่งหากนำมาใช้ประยุกต์กับปรัชญาพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเล่ม ความเป็นอนิจจังของสังคม โดย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือ แนวคิดพุทธสังคมนิยม จะเห็นว่ามีความสอดคล้องกัน

 

 

“สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน สรรพสิ่งล้วนมีสองด้านที่ขัดแย้งกัน คือ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง สมดุล แต่ไม่ใช่กลางเป๊ะ มันมีจุดสมดุลในแต่ละช่วงเวลา และสุดท้ายสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน”

“นอกจากสรรนิพนธ์ว่าด้วยความขัดแย้ง ปรัชญาของมาร์กซ์เอง ก็มีทฤษฎีประสานการปฏิบัติ ซึ่งก็เหมือนกับในพุทธศาสนา ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงบรรลุธรรม จนถึงวันนี้ผมก็คิดว่าผมเป็นพุทธด้วยการปฏิบัตินะ”

 

ว่าด้วยนักปฏิบัติและการจัดการความคิด

หมอมิ้งเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขาอยู่ในเขตงานอีสานใต้ 5-6 ปี จึงตัดสินใจออกจากป่าเข้าเรียนแพทย์ต่อจนจบมหาวิทยาลัย

“ตอนเรียนแพทย์ ผมเครียดมากเลยเวลาทำงานไม่สำเร็จ แต่พอมาหาคำตอบ ผมพบว่า อัตวิสัยไม่สอดคล้องกับภววิสัย ความคิดของเราไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ศาสตราจารย์ น.พ.เปรม บุรี ท่านมาสอนผม ท่านเป็นเสรีไทยด้วย ท่านเขียนสมการ Anxiety (ความเครียด) = [Expectation (ความคาดหวัง) – Fact (ความจริง)] x Concern(ความกังวล) เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดความไม่สบายใจ หนึ่ง ลดความคาดหวังให้ใกล้กับความเป็นจริง อย่าเวอร์ สอง ลด Concern”

 

 

“สมัยผมเป็นหมออยู่โรงพยาบาลที่ขอนแก่น ผมมีโอกาสได้รับเลือกไปในโครงการ Mid-Career Master in Public Administration ที่แคนาดา 1 ปี พอผ่านเทอมที่ 1 ผมก็อธิบายปัญหาส่งให้อาจารย์ของผมที่เป็นหมออ่าน อาจารย์บอกให้ผมอ่านและวิจารณ์ ผมก็นึกว่าผมเขียนได้ดีมาก พออ่านจบอาจารย์ก็บอกว่าดีมากเลย แต่นี่ผ่านไป 4 เดือนแล้ว คุณยังพูดถึงแต่ปัญหา เมื่อไหร่จะถึงทางออกเสียที ผมคลิกเลย คือ คนไทยเราติดอยู่กับการบรรยายปัญหา แล้วลืมคิดว่าจะหาทางออกยังไง พอคลิกเสร็จ  ปัญหาต่อมา ผมบอกว่าหาทางออกไม่ได้ ผมเป็นแค่ข้าราชการตัวเล็ก ๆ ไม่มีอำนาจอะไร อาจารย์ผมบอกว่า อำนาจมันกระจายออก ต้องหาช่องทาง ทุกอย่างต้องมีทางเลือก หลาย ๆ ครั้งในชีวิตเวลาที่ผมถึงทางตันผมจะถามตัวเองว่า ทางเลือกคืออะไร?”  

“มันทำให้ผมเอาหลักคิดพวกนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน ทัศนคติแบบ Every Problem has a Solution อันนี้คือ Winner Attitude ส่วน Loser Attitude คือ Every Solution has a Problem ผมจึงไม่เสียเวลากับการคิดฟุ้ง ไม่เสียเวลากับการถกกันให้แตก หลายคนในรุ่นผมถกแบบนั้น ไม่ใช่ว่าผมไม่มีทฤษฎี แต่ผมพยายามนำไปสู่การปฏิบัติ” 

 

 

ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก

“หลัง ๆ ผมอ่านคีย์เวิร์ดกว้าง ๆ ชอบคำของใครก็หยิบมาคิดต่อ เมื่อประมาณปี 2541 หรือ 2542 มีคนพูดไว้ว่า Internet is a Tool of Democracy ประโยคนี้เด็ดมาก เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเข้าถึงความรู้ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า คนต้องมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มากพอ ต่อมา คือสิทธิอย่างเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเพิ่งมาเห็นกันจะ ๆ เมื่อ 3-4 ปีมานี้เอง” หมอมิ้งกล่าว

 

 

หมอมิ้งสนใจการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สนใจการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนรุ่นถัดไป การที่มี Technology Disruption (การพลิกผันอันเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยี) หมอมองว่ามันเปิดโอกาสใหม่ ๆ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ หมอบอกว่าเราต้องมีโจทย์ เช่น จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรไทยอย่างไร 

“การที่ผมสนใจว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีโอกาสใหม่ ๆ อะไรบ้าง มันจะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่รู้ว่าจะเอาโอกาสของการเปลี่ยนแปลงนั้นไปให้ใคร เราเลยต้องตั้งคำถามว่าคนไทยส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลง คนไทยที่ยากจนพอจะมีโอกาสบ้างไหม นั่นคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า” หมอมิ้งกล่าวทิ้งท้าย

 


สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: หมอเลี้ยบ อ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คำ ผกา อ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: ช่อ อ่านอะไร

สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คุณปลื้ม อ่านอะไร

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog