ซาอุดีอาระเบียเผชิญเหตุตึงเครียดหลายเรื่อง ทั้งการจับกุมเจ้าชายหลายพระองค์ในคดีทุจริต กลุ่มกบฎในประเทศเยเมนพยายามยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงริยาด จนต้องสั่งปิดเส้นทางไปเยเมนทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ส่วนเจ้าชายอีกพระองค์สิ้นพระชนม์จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซาอุดีอาระเบียสั่งห้ามเครื่องบินส่วนบุคคลเดินทางเข้าหรือออกจากสนามบินทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันนี้ (6 พฤศจิกายน) เรื่อยไปจนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก เพื่อป้องกันกลุ่มนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ และเชื้อพระวงศ์ซาอุดีอาระเบียซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีพัวพันการทุจริต ไม่ให้หลบหนีออกนอกประเทศได้ ทั้งยังมีคำสั่งอายัดทรัพย์ผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมด้วย
นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายนเป็นต้นมา เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ทรงมีคำสั่งในฐานะประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สั่งจับกุมเจ้าชาย 11 พระองค์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีอีก 32 คน ในฐานะผู้เกี่ยวข้องในคดีทุจริต และในวันนี้มีการตั้งข้อหาฟอกเงินและฉ้อโกงแก่ผู้ถูกจับกุมบางส่วน ซึ่งรวมถึงเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล มหาเศรษฐกิจเจ้าของบริษัทคิงดอมโฮลดิง ซึ่งเป็นกิจการด้านการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย
การกวาดล้างและจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์ในสื่อต่างประเทศระบุว่า การปราบปรามทุจริตครั้งนี้มีเป้าหมายทางการเมืองด้วย เพราะรัฐมนตรีและเจ้าชายที่ถูกจับกุมหลายพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญด้านเศรษฐกิจและการทหาร เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ถูกปลดจากตำแหน่งจะช่วยให้เจ้าชายบิน ซัลมาน ทรงมีอำนาจในการบริหารและปกครองประเทศมากขึ้น หลังจากที่พระองค์ทรงขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทนเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมกุฎราชกุมารทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน และเจ้าชายบิน นาเยฟ ทรงเป็นพระภาติยะ
นายเกร็ก กอส ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียประจำมหาวิทยาลัยเท็กซัสของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ถ้าหากเป้าหมายของซาอุดีอาระเบียคือการปราบปรามการทุจริตจริง ก็จะต้องมีการสอบสวนคดีและเปิดเผยหลักฐาน ไม่ใช่พุ่งเป้าจับกุมบุคคลที่มีตำแหน่งสูงเพียงอย่างเดียว เพราะเจ้าชายอีกพระองค์หนึ่งซึ่งถูกจับกุม คือ เจ้าชายไมเต็บ บิน อับดุลเลาะห์ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจในกองทัพ
ส่วนอาสนาอีน มาลิก หัวหน้าฝ่ายวิจัยของธนาคารการลงทุนเอ็กโซติกซ์ แคปปิตา ระบุว่าปฏิบัติการครั้งนี้คือความพยายามที่จะรวบอำนาจอย่างแน่นอน และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ซาอุดีอาระเบียเสี่ยงภัยการเมือง แต่การรวมศูนย์อำนาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การผลักดันมาตรการหรือแผนปฏิรูประบบการเงินการคลังและประเด็นอื่นๆ ภายในประเทศ ซึ่งนักลงทุนจำนวนหนึ่งก็อาจคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ เจ้าชายมันซูร์ บิน มุกริน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอาซีร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวานนี้ (5 พฤศจิกายน) จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนพื้นที่ก่อสร้างโครงการเศรษฐกิจ ทำให้เจ้าชายและเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่บนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต รวม 8 ราย ทั้งยังไม่อาจระบุสาเหตุที่เครื่องตกได้ ขณะที่เจ้าชายบิน มุกริน เป็นพระโอรสของเจ้าชายมุกริน บิน อับดุลอาซิส อดีตมกุฎราชกุมารในสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ บิน อับดุลอาซิส อัล-ซาอูด กษัตริย์พระองค์ก่อน ถือเป็นเชื้อพระวงศ์ที่มีความสำคัญพระองค์หนึ่ง
กองทัพซาอุดีอาระเบียยังระบุด้วยว่าช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มกบฏฮูที ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธในประเทศเยเมน ยิงขีปนาวุธเพื่อจะโจมตีกรุงริยาดของซาอุดีอาระเบีย แต่กองทัพสามารถยิงสกัดขีปนาวุธเอาไว้ได้สำเร็จ รัฐบาลซาอุฯ จึงได้มีคำสั่งปิดเส้นทางไปยังเยเมนชั่วคราว ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยหวังจะสกัดเส้นทางการลำเลียงอาวุธของกลุ่มกบฎ และช่วง 2 ปีทีผ่่านมา มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน เป็นผู้นำกองทัพซาอุดีอาระเบียเข้าไปช่วยเหลือประเทศเยเมนในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูทีอย่างต่อเนื่อง
เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: