เครือข่ายปชช.คนภาคตะวันออก แถลงการณ์คัดค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ว่าเป็นการพัฒนาที่คนภาคตะวันออกไม่ได้เลือก พร้อมจี้คสช.ทบทวน-ยกเลิก ม.44
จากกรณีที่รัฐบาลมีความพยายามผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยสร้างฐานการลงทุนเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีวัตถุประสงค์สร้างฐานสะสมการลงทุนและฐานสะสมเทคโนโลยี ซึ่งหากวิเคราะห์ลึกลงในรายละเอียดทั้งในส่วนกลไก กระบวนการ และรูปแบบโครงการมีหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมใดๆเลย
วันนี้(05 พฤศจิกายน 2560) กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC WATCH) ร่วมกับแนวร่วมเครือข่ายประชาชนคนภาคตะวันออกได้ออกแถลงการณ์คัดค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ว่าเป็นการพัฒนาที่คนภาคตะวันออกไม่ได้เลือก
โดยกลุ่มเครือข่ายประชาขนภาคตะวันออก ได้มีข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้
1. เรื่องการใช้คำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC
รัฐบาลบอกอยู่เสมอว่า EEC จะเป็นต้นแบบรูปธรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่สำหรับ Thailand 4.0 ซึ่งการจะเป็นต้นแบบรูปธรรมที่ดีได้นั้น ต้องมีหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governent Framework) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีมานี้ คือ การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ม.44 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC อันไม่ได้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ฉบับ คือฉบับที่ 2/2560 เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย และสำนักงาน EEC ฉบับที่ 28/2560 เกี่ยวกับกระบวนการ EIA/EHIA สำหรับโครงการใน EEC และที่เป็นที่ติดตามของสังคมในขณะนี้ ฉบับที่ 47/2560 เกี่ยวกับการจัดทำนโยบาย แผนภาพรวม และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ EEC โดยการยกเว้นกระบวนการขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองตามปกติ
โดยขอให้หัวหน้า คสช. ยกเลิกประกาศคำสั่ง ม.44 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC ทั้ง 3 ฉบับ และขอให้หัวหน้า คสช. หยุดใช้อำนาจอันปราศจากซึ่งหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีโดยการออกคำสั่ง ม.44 ที่เกี่ยวกับการพัฒนา EEC อีก
2. เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.EEC
ตามที่ ครม. ได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเรื่องด่วน ในวันที่ 26 ก.ย. 2560 ก่อนวันสิ้นสุดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างทางเวบไซต์อย่างเป็นทางการของสำนักงาน EEC (eeco.or.th) ในวันที่ 9 ต.ค. 2560 นั้น แสดงถึงการไม่ได้ปฏิบัตให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยที่เนื้อหาภายในร่างมีในหลายประเด็นที่ไม่เหมาะสมและจะมีผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต เช่น
- ขาดการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งก่อนที่จะมีการจัดทำทางเลือกทางนโยบาย
- มีการเร่งรัดกระบวนการตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม มีผลให้มีการลดหย่อนสิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมือง และลดหย่อนหลักการระวังไว้ก่อน
- มีการรวบอำนาจจากทั้งหน่วยงานส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น มาสู่กลไกคณะกรรมการนโยบาย เลขาธิการและสำนักงาน EEC
- เปิดโอกาสให้มีการนำที่ดิน ส.ป.ก. มาใช้ประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้
โดยขอให้ ครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ชะลอเพื่อทบทวนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และจะต้องไม่เร่งรัดหากยังมีข้อกำหนดที่มีปัญหาและยังหาฉันทามติไม่ได้
3. เรื่องแนวนโยบายและแนวทางการพัฒนา EEC
ตามที่รัฐบาล สำนักงาน EEC ได้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์การพัฒนา EEC โดยมีวัตถุประสงค์คือ สร้างฐานสะสมการลงทุน และฐานสะสมเทคโนโลยี..เพื่อเยาวชนไทย โดยใช้ 3 จังหวัดเป็นฐานเริ่มต้น และมีรูปธรรม 5 โครงการหลักในปี 2560 หากวิเคราะห์ลึกลงในรายละเอียดทั้งในส่วนกลไก กระบวนการ และรูปแบบโครงการมีหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) ที่เป็นหัวใจขับเคลื่อน Thailand 4.0 อย่างแท้จริง นี่เองเป็นเหตุผลที่เราบอกว่า EEC คือการพัฒนาที่คนภาคตะวันออกจำนวนไม่น้อยไม่ได้เลือก
คนภาคตะวันออกเลือกที่จะเดินหน้า
ถ้าเราเลือกได้ เราจะทำให้การพัฒนา EEC เป็นต้นแบบรูปธรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างสร้างงสรรค์สำหรับ Thailand 4.0 โดยแท้จริง ที่จะได้นำพาภาคตะวันออกไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุลการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเกิดประโยชน์สุขอย่างถ้วนทั่ว ไม่ซ้ำรอยความทุกข์โศกและความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการพัฒนา ESB ในพื้นที่เดียวกันตั้งแต่อดีตที่ยังดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน
กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
5 พ.ย. 60
ที่มา : FB: Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน
เรียบเรียงโดย : บุญญิสา เพ็งบุญมา